
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.68 คณะอนุกรรมการ นบข. ด้านตลาด เคาะมาตรการช่วยข้าวนาปรัง สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน เปิดจุดรับซื้อ รัฐให้ค่าบริหารจัดการ 500 บาท/ตัน และชดเชยดอกเบี้ย 6% โดยให้โรงสีซื้อข้าวในราคานำตลาด 200 บาท/ตัน พร้อมมาตรการคู่ขนานการรณรงค์การบริโภคข้าว นำข้าว 500,000 ตัน ผลิตข้าวถุงจำหน่ายราคาถูก เร่งรัดการส่งออกข้าวและเปิดตลาดใหม่แอฟริกาใต้


โดยกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (คณะอนุกรรมการ นบข.ด้านตลาด) โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เข้าร่วม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ รองปลัดเกษตรฯ อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวอีสาน นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ธ.ก.ส. ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรัง จากประเด็นที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางและเหนือตอนล่าง เผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านตลาด ได้ร่วมกันพิจารณามาตรการการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังปี 2568 ก่อนนำเสนอ นบข. โดยได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง 2568 ดังนี้


3 มาตรการ “ช่วยชาวนา”
- ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน ในพื้นที่ 72 จังหวัด ปริมาณ 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท
- การเพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศโดยเปิดจุดรับซื้อ รัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท ผู้ประกอบการช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 300,000 ตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัด งบประมาณ 150 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะขายเลย
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการ 6% สำหรับผู้ประกอบการเก็บสต็อก 2 – 6 เดือน และผู้ประกอบการรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บ./ตัน ขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาท

โดยทั้ง 3 มาตรการนี้ ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท
และยังมีมาตรการคู่ขนาน ในการกระตุ้นการบริโภคร่วมกับโมเดิร์นเทรดดึงซัพพลายส์ ออกจากตลาดจำนวน 500,000 ตันข้าวเปลือก ซึ่งจะมีการจัดทำข้าวถุงจำหน่ายในราคาประหยัด และในส่วนของการส่งออกได้มีการเร่งรัด ขอให้จีนซื้อข้าวของไทย ตามสัญญาข้อตกลงระหว่างรัฐ ในปริมาณ 280,000 ตัน ให้เร็วที่สุด พร้อมเปิดตลาดส่งออกใหม่ที่แอฟริกาใต้ ดึง Supply ออกจากตลาดให้มากที่สุด ซึ่งตลาดดังกล่าวมีความต้องการบริโภคข้าวไทยเป็นอย่างมาก
