ประมง ผลิต ปลาพันธุ์ใหม่ เตรียมปล่อยลงน้ำ ทำหมันปลาหมอคางดำ

ทีมวิจัยกรมประมง ทำสำเร็จ ผลิต ปลาหมอคางดำ4n เตรียมปล่อยลงน้ำ ทำหมันปลาหมอคางดำ ที่กำลังระบาด

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานความก้าวหน้าโครงการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ ว่า จากนโยบายแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ กรมประมงได้ดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ โดยใช้เทคนิคการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม จากเดิมที่มีจำนวนชุดโครโมโซมตามธรรมชาติ 2 ชุด หรือ 2n ให้เป็นปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด หรือ 4n โดยจะนำปลาหมอคางดำ 4n เพศผู้ ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำเดิม ซึ่งมีชุดโครโมโซม 2n ในธรรมชาติ โดยลูกปลาหมอคางดำที่ได้จากการผสมในลักษณะนี้ จะเป็นลูกปลาฯ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด หรือ 3n มีลักษณะที่เป็นหมันไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้

สำหรับการดำเนินการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมปลาหมอคางดำในครั้งนี้ ดำเนินการเหนี่ยวนำด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 40 °C เป็นระยะเวลา 5 นาที ณ เวลา 80 นาทีหลังผสม ได้ปลาหมอคางดำที่สามารถเจริญเติบโตจนมีอายุ 3 เดือนจำนวน 1,112 ตัว และมีจำนวนปลาหมอคางดำที่มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับติดเครื่องหมาย PIT tag ได้ 703 ตัว และสามารถเก็บตัวอย่างเลือดด้วยวิธี pool sample ได้ทั้งหมด 135 กลุ่มตัวอย่าง จากปลาหมอคางดำ 551 ตัว เพื่อตรวจจำนวนชุดโครโมโซมด้วยเครื่อง flow cytometer พบรูปแบบที่มีการแสดงผลเป็นโครโมโซม 4n จำนวน 20 กลุ่มตัวอย่าง และตรวจสอบยืนยันจำนวนโครโมโซมรายตัวเรียบร้อยแล้ว จำนวน 1 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งขณะนี้ ทางศูนย์ฯ กำลังดำเนินการเร่งตรวจสอบยืนยันผลรายตัวจนครบ 20 กลุ่มตัวอย่าง ภายในเดือนมีนาคม 2568

ขณะเดียวกันคณะทำงานได้ดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการเหนี่ยวนำโครโมโซม เพิ่มเติมจำนวน 9 รูปแบบ โดยมีการตรวจสอบจำนวนชุดโครโมโซมเป็นระยะ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซมให้เหมาะสมเเละเพียงพอเพื่อขยายปล่อยลงเเหล่งน้ำ ควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำในเเหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป ที่สำคัญในวันนี้กรมประมงได้ดำเนินการปล่อยปลาหมอคางดำเพศผู้ที่มีโครโมโซม 4n เข้าผสมกับปลาหมอคางดำเพศเมียที่มีโครโมโซม 2n ในหน่วยทดลองเพื่อศึกษาการเข้าคู่ผสมพันธุ์ เเละความสามารถในการเเข่งขันการเข้าคู่ผสมพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีชุดโครโมโซม 3n ซึ่งมีลักษะเป็นหมันต่อไป

นอกจากนี้ อธิบดีกรมประมงยังได้มอบพันธุ์ปลากะพงขาวที่เป็นปลาผู้ล่าในธรรมชาติ ตามมาตรการเเก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ มาตรการที่ 1 ให้เกษตรกรนำไปปล่อยในเเหล่งน้ำธรรมชาติเเละบ่อที่ถูกบุกรุกเพื่อกำจัดเเละควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี