ธปท. เผย “แบงก์” หนืดปล่อยกู้ พบสินเชื่อรถยนต์ -9.9%

เศรษฐกิจซึม! “ธปท.” เผยภาพรวม “แบงก์พาณิชย์” หนืดปล่อยกู้ พบสินเชื่อรถยนต์ -9.9% หลังหนี้เสียเสี่ยงพุ่ง ชี้ “คุณสู้ เราช่วย” ยอดลงทะเบียนต่ำ เหตุลูกหนี้กังวลเกณฑ์ห้ามก่อหนี้เพิ่ม-เร่งปรับการสื่อสารใหม่

วันนี้ (18 ก.พ.68) นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 หดตัว -0.4% ถือเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2566 ที่สินเชื่อหดตัว -0.3%

โดยพอร์ตสินเชื่อแบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจ อยู่ที่ 0.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ -2.7% เป็นผลมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่ขยายตัว 2% หากรวมสินเชื่อภาครัฐจะขยายตัว 3.4% ขนาดที่สินเชื่อธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) -5.0% จากไตรมาสก่อนที่ -5.7%

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยหดตัวทุกประเภทสินเชื่อที่ -1.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ -0.8% โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่หดตัว -9.9% เป็นการหดตัวไตรมาสที่ 4 อีกทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต -2.3% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ -2.4% สินเชื่อส่วนบุคคล 1.3% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.7% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 0.4%

“สินเชื่อที่หายไปและหดตัว ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์จะจับตาดูอยู่ว่าจะเป็นไปในระยะยาวหรือไม่“นางสาวสุวรรณี กล่าว

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 2567 ปรับลดลงทั้งปริมาณและสัดส่วน โดยปริมาณหนี้เสียอยู่ที่ 5.50 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.78% ลดลงจากไตรมาสที่ 3/67 ที่อยู่ 5.3 แสนล้านบาท หรืออยู่ที่ 2.97% ปรับลดลงราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงในรอบหลายไตรมาส ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.82% เป็น 3.88%

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะช่วยแก้หนี้เสียให้ดีขึ้น โดยภายหลังจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงิน รวม 48 แห่ง เปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.68 ขณะนี้ขยายเวลาลงทะเบียนสิ้นสุด 30 เม.ย.68 จากเดิมหมดเขตวันที่ 28 ก.พ.68

นอกจากนี้ ได้เพิ่มให้ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ไม่ใช่บริษัทในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ อีก 2 แห่งเข้าร่วม คือ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEON และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC โดยทั้ง 2 บริษัทมีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาประมาณ 1.5 หมื่นราย

ข้อมูล ณ 16 ก.พ.68 มีผู้ลงทะเบียนอยู่ที่ 8.2 แสนราย หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีอยู่ที่ 9.9 แสนบัญชี อย่างไรก็ดี จากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.68 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนอยู่ที่ 6.3 แสนราย แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพียง 2.4 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 38% โดยส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล แต่ถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างน้อย

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า จากการคิดตามข้อมูลเพิ่มเติมพบปัญหาอุปสรรค คือ

1.สถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อลูกหนี้บางส่วนที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการได้ โดยเฉพาะลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์

2. ลูกหนี้บางส่วนติดข้อจำกัดเงื่อนไขของมาตรการ เช่น ห้ามก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคในช่วง 12 เดือนแรก และการรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร

สำหรับแนวทางดำเนินการกระตุ้นให้มีคนมาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นนั้น อาทิ ขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 30 เม.ย.68 การเปิดตัวมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ไม่ใช่บริษัทในกลุ่มของ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 13 ก.พ. -30 เม.ย.68

สถาบันการเงินทุกแห่งแจ้งลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการได้ทุกรายให้เข้ามาลงทะเบียนแล้ว จึงขอให้ลูกหนี้รับการติดต่อจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้

นอกจากนี้ จะสื่อสารเพื่อแก้ความเข้าใจผิดของลูกหนี้ต่อโครงการ คือ 1.ลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากค่างวดที่ลดลง โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม และยังสามารถกู้เพื่อประกอบธุรกิจได้

และ 2.การรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร เป็นการให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมโครงการหากชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข จะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจ และมีวินัยในการแก้หนี้

“ช่วงต้นที่มีการออกมาตรการมีผู้สนใจลงทะเบียนสูงถึง 149,835 ราย แต่จำนวนผู้สนใจลงทะเบียนน้อยลง ดังนั้น จึงมีการปรับรูปแบบการสื่อสารเพิ่มเติม ทำให้ยอดลงทะเบียนปรับเพิ่มขึ้น“นางสาวสุวรรณีกล่าว