ก.เกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์พืช โชว์ หนังสือตัวอย่างพรรณไม้ เล่มแรกของไทย

กรมวิชาการเกษตร ชวนเข้าชม “พิพิธภัณฑ์พืช” คลังมรดกแห่งความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ จัดแสดงหนังสือตัวอย่างพรรณไม้ เล่มแรกของไทย อายุกว่า 100 ปี

กรมวิชาการเกษตร เปิดพิพิธภัณฑ์พืชชวนผู้สนใจเข้าชม “หนังสือเก็บพันธุ์ตัวอย่างพรรณไม้เล่มแรกของไทย” มรดกแห่งความรู้ด้านพฤกษศาสตร์

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร มีการเก็บรักษา “หนังสือเก็บพันธุ์ตัวอย่างพรรณไม้เล่มแรกของไทย” โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ได้มากกว่า 40,000 หมายเลข ซึ่งในจำนวนนี้มีพรรณไม้ที่ได้รับการค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทยจำนวนมาก ถือเป็นมรดกทางวิชาการที่สำคัญในประวัติศาสตร์พฤกษศาสตร์ของประเทศไทย โดยพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ตั้งอยู่ใน “อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร” กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์และพระราชทานนามให้สถานที่แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง พร้อมข้อมูลทางพฤกษศาสตร์และเรื่องราวความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เริ่มจากในปี 2445 นายแพทย์คาร์ (A.F.G. Kerr) ชาวไอริชเดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีความสนใจเก็บรวบรวมและสำรวจพรรณไม้ในภาคเหนือ ซึ่งสามารถรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ได้จำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่เคยมีการสำรวจรวบรวมมาก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำรวจและตรวจสอบงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพฤกษศาสตร์สากล โดยมีนายแพทย์คาร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติเป็นคนแรก และใช้พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ที่สำรวจพบและจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งตามหลักสากล ต่อมากรมตรวจพันธุ์รุกขชาติได้ผนวกรวมกับกรมเพาะปลูก และเปลี่ยนชื่อเป็น กรมตรวจกสิกรรม รวมทั้งงานทางด้านการเกษตรขยายงานเพิ่มเติมมากขึ้น กรมตรวจพันธุ์รุกขชาติเดิม จึงถูกปรับเปลี่ยนสถานะเป็นกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ สังกัดอยู่ในกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช กรมวิชาการเกษตร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธรได้ถูกจัดให้มีสถานที่รวบรวมและเก็บบันทึกเรื่องราวการทำงานด้านอนุกรมวิธานพืช การศึกษาสำรวจพรรณไม้ และการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์พืช รวมไปถึงการเก็บรักษาหนังสือ เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านพรรณไม้ หนึ่งในนั้น คือ หนังสือวิธีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้เล่มแรกของไทย โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2473 มีชื่อตามปรากฏบนหน้าปกว่า “วิธีเก็บพันธุ์ไม้โดยสังเขป”

เนื้อหาภายในเล่ม เป็นการถ่ายทอดความรู้วิธีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ การจัดทำตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิง รวมไปถึงการบันทึกข้อมูลลักษณะต่างๆ ของพรรณไม้ที่สำรวจพบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติงานด้านพฤกษศาสตร์และงานด้านอนุกรมวิธานพืช เมื่อเปิดอ่านแล้ว จะพบว่า ผู้เขียนนั้นมีความตั้งในเรียบเรียงให้มีความเข้าใจง่าย มีการบรรยายขั้นตอนวิธีการต่างๆ สำหรับการจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้ การจัดทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง รวมถึงการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งมีการวาดภาพประกอบ เพื่อใช้ในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นอีกด้วย ถือเป็นต้นแบบในผลิตหนังสือตำราให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบันนี้

กรมวิชาการเกษตรขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมหนังสือวิธีการเก็บพันธุ์ไม้เล่มโบราณนี้และเอกสารเก่าแก่ฉบับอื่นๆ ได้ที่อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร กรมวิชาการเกษตร รวมถึงสามารถติดต่อขอใช้บริการตรวจสอบชนิด รายชื่อพรรณไม้ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพรรณไม้ได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2940-5628