ตึก สตง.ถล่ม! แผ่นดินไหวหรือความผิดพลาดทางวิศวกรรม?

โศกนาฏกรรมตึก สตง. พังถล่มกลางกรุงฯ เกิดจากแผ่นดินไหว หรือมีความบกพร่องทางวิศวกรรม? เปิดประเด็นมาตรฐานก่อสร้างและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาคาร สตง.ถล่ม! แผ่นดินไหวหรือความผิดพลาดทางวิศวกรรม?

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ได้เขย่าความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างรุนแรง เมื่อ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พังถล่มลงมา ท่ามกลางแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่รุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เหตุการณ์นี้ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คน แต่ยังทิ้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้าง ความโปร่งใสของโครงการ และความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่นี้ถูกออกแบบมาให้เป็นศูนย์กลางขององค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินของภาครัฐ ซึ่งต้องการแสดงถึงความมั่นคง โปร่งใส และมีมาตรฐานสูงสุด

โดยปี 2561 การออกแบบอาคารได้รับการว่าจ้างให้ดำเนินการโดย บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยงบประมาณ 73 ล้านบาท

 ปี 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณก่อสร้าง 2,560 ล้านบาท โดยกระบวนการประกวดราคาได้คัดเลือก กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นกลุ่มของ

 – บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

 – บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

ด้วยวงเงินที่เสนอ 2,136 ล้านบาท (ต่ำกว่าราคากลาง 386.15 ล้านบาท) การควบคุมงานก่อสร้าง ได้ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW ด้วยงบ 74.65 ล้านบาท

ถึงแม้ สตง. จะยืนยันว่าได้ดำเนินโครงการภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เข้มงวด แต่เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ย่อมทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ทุกกระบวนการตรวจสอบเพียงพอแล้วจริงหรือไม่?

ตามรายงาน เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาขนาด 8.2 แมกนิจูด ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้โครงสร้างอาคาร สตง. พังลงมา ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียอันน่าสลด มีผู้เสียชีวิต 11 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย กว่าผู้สูญหาย 76 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 30 มี.ค. 68 (17:00 น.)

แต่ทำไม? อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ แล้วทำไมอาคาร สตง. ซึ่งเพิ่งก่อสร้างถึงได้พังลงมาทั้งหลัง?

ข้อสังเกตที่น่าสงสัย

 1. มาตรฐานโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหวเพียงพอหรือไม่?

 • สตง. ระบุว่าได้คำนึงถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวในการออกแบบอาคาร โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อกำหนดทางวิศวกรรม

 • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตว่า การออกแบบโครงสร้างอาคารในกรุงเทพฯ ควรสามารถต้านแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่านี้

 2. มีการลดต้นทุนก่อสร้างหรือไม่?

 • แม้ สตง. จะออกแถลงการณ์ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เล็กลง แต่ก็มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับลดขนาดเสาบางส่วน ซึ่งยังคงเป็นข้อกังขา

 3. การควบคุมงานก่อสร้างมีช่องโหว่หรือไม่?

 • แม้จะมีบริษัทควบคุมงานก่อสร้างที่ได้รับการว่าจ้าง แต่การกำกับดูแลจากภาครัฐเพียงพอแล้วหรือไม่?

 • มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่เกิดข้อผิดพลาดจากขั้นตอนก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน?

หลังจากเหตุการณ์สุดสลดใจที่เกิดขึ้น สตง. ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ พร้อมให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือและสอบสวนหาสาเหตุโดยเร็ว แต่ประชาชนคาดหวังมากกว่านั้น ใครต้องรับผิดชอบ? หากพบข้อบกพร่องในโครงการ จะมีการดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องหรือไม่? มาตรการป้องกันในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของอาคารที่ถล่ม แต่เป็นเรื่องของ ความเชื่อมั่นในระบบราชการ และ มาตรฐานงานก่อสร้างของรัฐ

สุดท้ายนี้ ตึก สตง. ถล่มเพราะแผ่นดินไหว หรือ เป็นเพียงจุดเปราะบางที่เปิดโปงความล้มเหลวที่ซ่อนอยู่?

อีจันขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และหวังว่าทุกคนจะปลอดภัยจากภัยพิบัติในอนาคตครับ