
“หนี้สินรุมเร้า” เป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกในสังคมไทยที่ไม่เคยจางหายมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤติโควิด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ทำให้หลายครัวเรือนมีรายได้ลดลง ตกงาน ขาดรายได้ สุดท้ายเป็นคนล้มละลาย และหนี้สินล้นพ้นตัว
ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การ “เป็นหนี้” เกิดขึ้นไม่มีวันจบสิ้น ถือเป็นวงจรอุบาวท์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อชีวิตและเศรษฐกิจไทย ในช่วงหลายปีท่านมา เนื่องจาก ปัญหาภาระหนี้สินนั้น แก้ไขได้ยาก ภายใต้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว
ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ “นายกฯ อิ๊ง” นางสาวแพรทองทา ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) รวมทั้งหมด 48 แห่ง
ผุดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยกันแก้หนี้สินให้แก่รายย่อย รวม 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.หนี้บ้าน 2.รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และ 3.ธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ รวมถึงยังมีความหวังในการปิดจบหนี้ได้ในที่สุด

“นายกมลภพ วีระพละ” หรือ “พี่ต้น” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ซึ่งเป็น 1 ในสถาบันการเงิน 48 แห่งที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ-อีจัน” ถึงแผนการดำเนิน ภายใต้นโยบายดังกล่าวของรัฐบาล กับพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน”
“ผมเห็นด้วยกับไอเดียในโครงการนี้ เพราะการทำให้คนมีบ้าน หรือพยายามที่จะรักษาบ้านให้อยู่กับประชาชน เป็นพันธกิจของ ธอส.” นายกมลภพ กล่าวและว่า การช่วยสนับสนุนคนไทยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้ เท่ากับช่วยให้คนไทยมีวินัยการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ว่า ห้ามก่อหนี้ 12 เดือนแรก รวมถึงกำหนดให้ลดค่างวด 3 ปี คือปีที่ 1 ชำระ 50% ของค่างวด ปีที่ 2 ชำระ 70% ของค่างวด และปีที่ 3 ชำระ 90% ของค่างวด ซึ่งทำให้คนมีวินัยทางการเงินในระยะยาวมากขึ้น
สำหรับในส่วน ธอส.เองนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าทั้งหมด หลายล้านคน พบว่า มีลูกค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ได้ประมาณ 300,000 ราย ซึ่งขณะนี้ มีลูกค้าให้ความสนใจ และติดต่อแล้ว70,000 ราย และจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า มีลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข และสามารถเข้าโครงการได้ถึง 25,000 ราย ถือว่า ยังไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวน 300,000 ราย แต่ตัวเลขนี้ จะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการนี้ เปิดให้ลงทะเบียนได้ถึงสิ้นเดือนเม.ย. นี้

นายกมลภพ กล่าวต่อไปว่า จำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ยังอยู่ในระดับไม่มากนั้น อาจเกิดจากโครงการเพิ่งเปิด ตัว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 มีลูกค้าติดต่อธนาคารเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งลูกค้าที่ดี และลูกค้าที่เป็นเอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ตรงจุดนี้ สร้างความสับสนเหมือนกัน เพราะลูกค้าที่ดี อยากเข้าร่วมโครงการ แต่ลูกค้าที่มีปัญหาไม่ติดต่อกับธนาคารเลย หรือตามหาตัวยากมาก ผมจึงต้องเร่งทำแผนงานประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เช่น การส่งข้อความสั้น หรือ (SMS) จำนวน 3 ครั้งขึ้นไป ถึงมือถือลูกค้า ถือว่า ประสบความสำเร็จพอสมควร โดยมีลูกค้าติดต่อกับมาประมาณวันละ 1,000 ราย
“ตรงจุดนี้ อยากให้ลูกค้าที่มีปัญหาติดต่อกับ ธอส.ทันทีและต่อเนื่อง อย่างทิ้งหายไป เนื่องจากการเข้ามาพูดคุยติดต่อกับธนาคารสามารถช่วยลดภาระหนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะนอกจากโปรแกรม คุณสู้ เราช่วย แล้ว เรายังมีหนทางในการแก้ไขหนี้ให้ประชาชนอีกมากมาย”
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ ขอปรับส่งชำระเป็นงวด ลงเหลือเพียง 10% เป็นเวลา 3 ปี ก็สามารถทำได้ ดังนั้น หากลูกค้าท่านใด ไม่สามารถเข้าโครงการคุณสู้ เราช่วยได้ ก็สามารถเข้าร่วมมาตรการอื่นๆ ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการปัญหาทางการเงินได้ตามภาวะเศรษฐกิจของตัวเอง

เดินหน้า “โรงเรียนการเงิน”
นายกมลภพ เล่าต่อว่า นอกจาก ธนาคารจะมีมาตรการช่วยแก้หนี้แล้ว ยังมีโปรแกรมที่ช่วยลูกค้าหน้าใหม่ ที่ทำเรื่องยื่นกู้เงินซื้อบ้านแล้ว ไม่ผ่านการพิจารณาจากธนาคาร ธอส.ก็ไม่ได้ปฏิเสธให้สินเชื่อแบบหมดโอกาส แต่เรายังมีทางเลือกให้ลูกค้าด้วย ภายใต้โครงการ “โรงเรียนการเงิน”
เมื่อลูกค้าเข้าเรียนในโครงการนี้ มีโอกาส ขอกู้เงินซื้อบ้านได้มากขึ้น ซึ่งจากสถิติของเข้าร่วมโครงการดังกล่าวพบว่า ผู้สนใจเข้าร่วมโรงเรียนการเงิน จำนวน 27,400 ราย ในจำนวนนี้ มีมากถึง 10,000 ราย หลังจากเรียนจบแล้ว สามารถกู้เงินกับ ธอส.ได้
“โรงเรียนการเงิน” ไม่ใช่เข้าไปนั่งเรียนหนังสือ เหมือนกับเด็กมหาวิทยาลัย แต่ โรงเรียนการเงิน เป็นโปรแกรมที่ให้ความรู้ด้านการเงินกับผู้ขอสินเชื่อ เช่น ก่อนจะกู้เงินต้องเตรียมตัวอย่างไร มีเงินออมอย่างไรถึงเพียงพอ หรือต้องเปิดบัญชีเงินฝากกับ ธอส. จะได้รับดอกเบี้ยอย่างไร เมื่อกู้เงินแล้ว จะต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นเท่าไหร่ ทำได้ หรือไม่ได้ จะต้องแก้ไข หรือเพิ่มเติมเรื่องอะไรบ้าง ลูกค้าก็มีความหวัง ความฝันที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง เพียงแต่ บ้างเรื่องไม่เข้าใจ และต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตนเองว่า ณ ขณะนี้ มีความสามารถหรือยัง ที่มีบ้านเป็นของตนเอง นายกมลภพ กล่าวและกล่าวต่อไปว่า
เช่น “โครงการบ้านเพื่อคนไทย” ขณะนี้ ธอส.มีความพร้อมในการปล่อยกู้ในโครงการดังกล่าวร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยประสานงานกับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ เอสอาร์ทีเอ บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 4 โครงการประกอบด้วย 1.พื้นที่โครงการบางซื่อ กม.11(วิภาวดี) 2.พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ 3.พื้นที่โครงการเชียงราก(ปทุมธานี) และ 4.พื้นที่ธนบุรี
ขณะนี้ มีประชาชนที่สนใจลงทะเบียนแล้วหลายแสนคน แต่ผ่านการพิจารณาให้สินเชื่อล่าสุด 130,000 ราย ขณะที่บางส่วนที่ไม่ผ่าน ธอส.ได้เสนอให้เข้าโรงเรียนการเงินก่อน อาจจะสามารถกู้สินเชื่อเพื่อร่วมโครงการนี้ได้
เนื่องจากโครงการบ้านเพื่อคนไทยนั้น จากการประเมินของ ธอส. คาดว่า น่าจะส่งมอบโครงการและก่อสร้างบ้านเสร็จ ในระยะเวลาประมาณ 12 เดือน หรือใช้เวลามากกว่านี้ ดังนั้น หากประชาชนที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการบ้านเพื่อคนไทย จะเข้าร่วม “โรงเรียนการเงิน” กับ ธอส. ผมคิดว่า จะช่วยให้ผู้กู้สามารถกู้เงินบ้านจากโครงการนี้ ได้มากขึ้น

หนี้เสียลด-ปล่อยกู้พุ่ง
นายกมลภพ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 71 ปี ธอส.ได้ออกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้คนไทยมีบ้าน ตามพันธกิจของธนาคาร พร้อมทั้งดำเนินการแก้หนี้ ปลดหนี้ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดิน ส่งผลลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ดี โดยปีที่ผ่านมา ธนาคารดำเนินมาตรการแก้หนี้เชิงรุก แก้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5% เมื่อปีที่แล้ว โดยมีหนี้เอ็นพีแอล 89,117 ล้านบาท คิดเป็น 4.95% ของยอดสินเชื่อรวม สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการที่ธนาคารดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้ผลดีมาก เพราะช่วยทำให้สถานภาพลูกค้าที่มีปัญหา กลับมาเป็นลูกค้าที่ปกติมากกว่า 60%
“จากภาพรวมหนี้เสีย ที่ลดลงแล้ว ผลการดำเนินงานของ ธอส.เมื่อปีที่แล้ว ดีอย่างต่อเนื่องจาก เพราะสินเชื่อเราปล่อยได้ถึง 230,000 ล้านบาท ขณะที่ เอ็นพีแอลลดลง อยู่ในระดับต่ำกว่า 5% ท่ามกลางการคาดการณ์ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวม จะหดตัว 11-12% แต่ ธอส.ยังปล่อยสินเชื่อได้อย่างแน่นอน แม้ว่า จะลดลงจากปี2566 เล็กน้อย 5-6% แต่มาร์เก็ตแชร์ หรือส่วนแบ่งตลาด ธอส.เพิ่มจากระดับ 20% มาเป็น 40% เกือบ 50%”
ขณะนี้ กำลังทำตัวเลข ยอดสินเชื่อบ้านปีที่แล้ว ที่ ธอส.ปล่อยกู้ 230,000 ล้านบาท ไม่ใช่มีมาร์เก็ตแชร์เกือบ 50% เท่านั้น แต่ยังคาดว่า มาร์เก็ตแชร์ปีที่แล้ว น่าจะมากกว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบปล่อยสินเชื่อบ้านรวมกัน
ดังนั้น การธนาคารมีเอ็นพีแอลต่ำกว่า 5% และคาดว่าสินเชื่อจะโตแตะ 240,000-250,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่า ตลาดบ้านปีนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น และสดใสกว่า ปีที่แล้ว” นายกมลภพกล่าว

เร่งปล่อย 5 สินเชื่อใหม่
สำหรับในปี2568 นี้ ธอส.ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ 5 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร โดยเป็นสินเชื่อพร้อมประกัน รวมถึงมีการลดดอกเบี้ยให้ด้วย เชื่อว่าจะลดภาระ และสร้างความมั่นคงให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน ซึ่ง 5 มาตรการมีดังนี้
- สินเชื่อบ้าน Life Begins with GHB ปี 2568 : สำหรับสมาชิกสภา / สมาคมวิชาชีพที่ต้องการกู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง รีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 1.79% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 2.70% กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดปีแรกเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,000 บาท
- สินเชื่อบ้าน GHB Precious ปี 2568 : สำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 70,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 1.79% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 2.70% กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดปีแรกเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,000 บาท
- สินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2568 : สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ ปลูกสร้าง และปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ช่วยประหยัดพลังงาน อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.20% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 2.90% กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดปีแรกเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,200 บาท
- สินเชื่อบ้านสวัสดิการ ปี 2568 : สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าสวัสดิการกับหน่วยงานที่ทำข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้ที่อยู่อาศัยประเภทไม่มีเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.30% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 2.90% กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดปีแรกเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,200 บาท
- สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ปี 2568 : สำหรับผู้ที่ต้องการกู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซม อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.50% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 3.20% กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดปีแรกเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,300 บาท
“ด้วยวิถีคนไทยไม่ชอบเป็นหนี้นาน ถ้าหากลูกค้าท่านใด มีความสามารถในการชำระหนี้ ก็มักจะรีบนำเงินมาปิดหนี้ เพื่อไถ่ถอนบ้านและที่ดิน จากธนาคารก่อนกำหนด ซึ่งสะท้อนได้จากสถิติของ ธอส. จากที่มีการทำสัญญาเงินกู้ ยาวนานถึง 30 ปี ปรากฏว่า ลูกค้าของเรา เฉลี่ยกู้เงินเพียง 12 ปีต่อบ้าน 1 หลัง บ่งบอกว่าคนไทยไม่อยากเป็นหนี้ยาวนาน ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีเงินลูกค้าก็จะนำเงินมาใช้หนี้บ้านก่อนเป็นอันดับแรก ผมและพนักงานของ ธอส.จึงเชื่อว่ายังไง “คนไทยก็ไม่อยากทิ้งบ้าน”
“ธอส.มีพันธกิจคือ ทำให้คนไทยมีบ้านและรักษาบ้านให้กับคนไทย ธอส.จึงพร้อมที่จะช่วยประชาชนและลูกค้าทุกราย-ทุกวิถีทาง เพื่อให้มีบ้านเป็นอยู่อาศัยของตนเอง โดยติดต่อกับ ธอส.ได้ตลอดเวลา ” กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด