
กระทรวงการคลังเชิญ ธปท.ขอหารือ เงินบาทแข็ง 32.23 บาทต่อดอลาร์สหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 19 เดือน ส่งผลกระทบยอดส่งออกทรุด ขณะที่ เงินเฟ้อต่ำกว่า 1% และยังหลุดเป้าหมาย ธปท.ตั้งไว้ 1-3% ต้นทุนเศรษฐกิจทรุด แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้
วันนี้ (25 ก.ย.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น มาอยู่ที่ 32.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่า แข็งค่าขึ้นมาเร็วที่สุดในรอบ 19 เดือน ซึ่งกระทบกับผู้ส่งออก จึงอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อน
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งขณะนี้ มาจากปัจจัยภายนอกที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีดอกเบี้ยสูงเป็นระยะเวลานาน การรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% จึงมีความสำคัญ และยังส่งสัญญาณว่า จะลงต่อไปอีก 0.75% ทำให้เม็ดเงินจะไหลออกจากพันธบัตรสหรัฐฯ มาสู่ตลาดที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นมาก และแข็งค่าเร็วกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทำให้ความสามารถแข่งขันเรื่องส่งออกของไทยลดลง
ข่าวน่าสนใจอื่น
“เมื่อเทียบกับคู่ค้าแล้วถือว่า ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าคู่ค้า ไม่ว่าจะเทียบกับเงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินเยนของญี่ปุ่น รูเปียะห์ของอินโดฯ และริงกิตของมาเลเซีย ค่าเงินเราแข็งมากกว่าค่าเงินเราจึงเสียเปรียบ คนที่ดูแลเรื่องนี้ต้องจับไปเป็นปัจจัยว่า ที่ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะอะไร”นายพิชัย กล่าว
ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทย ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อยังหลุดกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 1 – 3% ซึ่ง 8 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.15% เมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบล่างแบบนี้ รัฐบาลมองว่า น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ

“เศรษฐกิจไทยตกต่ำมาอย่างยาวนาน เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จะกระทบกับเศรษฐกิจหลายเรื่องทั้งหนี้ของประชาชน และหนี้เอสเอ็มอีก็ขึ้น หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่า ในเรื่องของนโยบายที่จะทำคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจเราแข่งขันให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต รวมทั้งการชักชวนการลงทุน ซึ่งรัฐบาลใช้การกระตุ้นด้วยงบประมาณไปเต็มที่แล้ว”นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า มาตรการทางการคลังที่ใช้ไปอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ซึ่งต้องดูว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องดูความเหมาะสม เพราะหากสูงเกินไปก็ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต ถือเป็นนโยบายที่สวนทาง ซึ่ง ธปท.ต้องดูให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง หรือไม่

เพราะมองว่า กลัวเรื่องดอกเบี้ยต่ำแล้วเงินเฟ้อจะสูง คนใช้จ่ายมากขึ้น ก็ต้องดูตัวเลขว่าขณะนี้เงินเฟ้อยังต่ำมากก็ต้องดูตัวเลขเงินเฟ้อที่ผ่านมาประกอบด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาเงินเฟ้อหลุดกรอบไป 6 ปี ใน 8 ปี ถือว่า เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. โดยตลอด
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า การหารือกับ ธปท. เนื่องมี 4 ประเด็นที่กระทรวงการคลังต้องการให้ ธปท.พิจารณาถึงความจำเป็นในการผ่อนนโยบายการเงิน ประกอบด้วย 1.เรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ในกรอบ และยังไม่เข้าสู่กรอบเงินเฟ้อที่คาดหวัง และไม่มีแนวโน้มเดินเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อในระยะเวลาอันใกล้ โดยกรอบเงินเฟ้อ กำหนดไว้ที่ 1-3%

แต่ขณะนี้ เงินฟ้อขยายตัวยังไม่ถึง 1% 2.อัตราแลกเปลี่ยน วันหนึ่งค่าเงินบาทอ่อน อยู่ที่ 36 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อมา อีกวันแข็งมาอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ช่องว่างที่กัน 10% ถามกลับไปว่า ไหวกับสถานการณ์นี้หรือไม่ และเงินบาทที่แข็งค่าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบัน ไทยอยู่ในเกณฑ์ ที่แข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
และ 3.อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ รัฐบาลจึงต้องเหยียบคันเร่งเพิ่ม ผ่านนโยบายทางการเงินที่ใส่เงินไปในระบบมากกว่า 100,000 ล้านบาท ก็คาดหวังว่า นโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกัน และ 4.ทิศทางนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ ในโลก เคลื่อนที่ไปในทิศทางลดดอกเบี้ยนโยบายลง ฉะนั้นนโยบายการเงินของประเทศหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายการเงินกับประเทศคู่ค้าและประเทศที่ค้าขายกับไทย