
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ปีนี้ ธนาคารมั่นใจว่า จะสามารถปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ย ในวงเงิน 30,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน โดยจุด เด่นของผลิตภัณฑ์ทางการเงินชุดนี้คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เพียง 3%ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี และปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือนประกอบด้วย

1.สินเชื่อ “SME Green Productivity” สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการติดตั้งระบบอุปกรณ์ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด และมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เช่น ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในอุตสาหกรรมผลิตหรือบริการสีเขียว โรงงาน ร้านอาหาร โรงแรม เพื่อช่วยลดต้นทุนพลังงานในระยะยาว หรือมีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท
2.สินเชื่อ “ปลุกพลัง SME” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท นำไป ใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึง หมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ เช่น ร้านโชห่วย/ขายปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ ร้านขายยา และแฟรนไชส์รายย่อย เป็นต้น วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท
3.สินเชื่อ “Beyond ติดปีก SME” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เช่น เกษตรแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพ โรงแรมที่พัก/ร้านอาหารขนาดใหญ่ ธุรกิจนำเข้าติดตั้งเครื่องจักร ธุรกิจบริการดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ แฟรนไชส์ เป็นต้น วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท
นายพิชิต กล่าวว่า ธนาคารมีความพร้อมที่จะผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยในปี 2568 นี้ SME D Bank จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น พร้อมควบคู่กับ “ด้านการพัฒนา” เพื่อยกระดับ และปรับเปลี่ยนธุรกิจในอนาคต เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น

“ปีนี้ SME D Bank ตั้งเป้าสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและยกระดับธุรกิจได้กว่า 14,000 กิจการ รักษาการจ้างงานได้ 198,000 คน และสร้างเงินลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 160,000 ล้านบาท” นายพิชิต กล่าวและกล่าวว่า
ธนาคารยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th) โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรมากกว่า 50 แห่งที่เข้ามาเชื่อมโยงการสนับสนุน ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้สะดวกสบาย ตลอด 24 ชม. มีฟีเจอร์สำคัญ ๆ เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ , E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ , SME D Coach ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ และ Privilege สิทธิประโยชน์เพื่อยกระดับธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีโครงการและกิจกรรมการพัฒนาที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องตลอดทั้งปี มุ่งเติมความรู้เชิงลึก และให้คำปรึกษา มอบเครื่องมือ เพื่อผลักดันให้สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างแท้จริง รวมถึง เพิ่มรายได้ และขยายตลาด