วาระแห่งชาติ! รัฐบาล-แบงก์ชาติ ร่วมสาง “หนี้ครัวเรือน” ก่อนท่วมประเทศ

วาระแห่งชาติ! รัฐบาล-แบงก์ชาติ เปิดโปรเจกต์ “คุณสู้ เราช่วย” คลอด 2 มาตรการ ปลดล็อกหนี้ “รถ-บ้าน-เอสเอ็มอี” หวังอุ้มคนไทย รอดพ้นกับดักหนี้

“หนี้ล้นพ้นตัว” เป็นคำคุ้นหูที่แฝงไปด้วยความทุกข์ของคนไทยที่ยากจะสลัดทิ้งได้ดีที่สุด นับตั้งแต่ทั่วโลก รวมถึงไทย เผชิญวิกฤติโควิด-19 กันถ้วนหน้า ที่นอกจากโรคระบาดจะทำลายสุขภาพและชีวิตไปมากมายแล้ว

อีกด้านก็สร้างทุกข์ทางการเงินไว้ไม่น้อย หลายคนสูญเสียรายได้จากยอดขายที่ลดลง แต่หนักสุดคือ “ตกงาน” ยิ่งคนที่มีภาระหนี้มากเท่าไหร่ ก็แทบจะเอาตัวไม่รอดในยุคเศรษฐกิจ “อดีตนายกฯ ประยุทธ์”

ทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเครื่องมือทางการเงินมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์นี้ ทั้งการลดดอกเบี้ย พักดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านโควิดมาแล้วหลายปี แต่ปีนี้ (2567) แม้เศรษฐกิจไทยดูดีขึ้น แต่ภาพรวมยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่หวัง ส่งผลให้คนไทยยังคงเจอกับปัญหาเดิมๆ คือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้หด-รายจ่ายเพิ่ม ทำให้การเป็นหนี้ยังคาราคาซังไม่จบไม่สิ้น

จนสะสมกลายเป็นหนี้ส่วนตัว และเมื่อรวมมัดกันเป็นก้อนเดียวกันจากคนทั้งประเทศ หนี้ส่วนตัวก็คือ หนี้ครัวเรือนที่ค้างสะสมมานานหลายปี สะท้อนข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุไตรมาส 2/67 หนี้ครัวเรือนยังทรงตัวระดับสูงที่มีมูลค่าหนี้ 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

จากข้อมูลยังบ่งบอกว่าคนไทยไม่เคยหลุดพ้นวงจร “หนี้” ซึ่งเป็นเรื่องที่ “รัฐบาล” พยายามแก้ไขมาหลายยุคหลายสมัย!

ล่าสุด กับรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้จัดนโยบายชิ้นโบว์แดง ด้วยการเปิดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มุ่งแก้หนี้ หวังแก้จน ให้คนไทย โดยเริ่มเปิดรับสมัครลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการไปตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เข็น “คุณสู้ เราช่วย” แก้หนี้คนไทย

โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) บางแห่งที่เข้าร่วมแก้หนี้ครั้งนี้ รวม 48 แห่ง

เบื้องต้นคาดว่า จะช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท

โดยจะแก้หนี้ผ่าน 2 มาตรการ คือ 1.“จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ ซึ่งลูกหนี้ต้องเป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567 และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565

เจาะกลุ่มแก้หนี้ 4 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ยอดหนี้ไม่เกิน 5,000,000 บาท
2.กลุ่มลูกหนี้ผ่อนซื้อรถยนต์ ยอดหนี้ไม่เกิน 800,000 บาท
3.กลุ่มลูกหนี้ผ่อนซื้อรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
4.กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อเอสเอ็มอี วงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อราย

ซึ่งจะลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกจะลดค่างวดที่ 50% ปีที่สอง 70% และปีที่สาม 90% โดยจะนำค่างวดทั้งหมดไปตัดเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยจะพักไว้ เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะยกเว้นทั้งหมดให้ หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดสัญญาในช่วงที่อยู่ในมาตรการ

ต่อจากนี้เงินทุกบาททุกสตางค์ จะไปใช้หนี้เงินต้นแบบเต็มๆ ลดหนี้ทั่วหน้า!

จ่าย 500 ปิด จบ หนี้

สำหรับมาตรการที่ 2. “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท (ณ 31 ต.ค.67) ไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ และสามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี

โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน หรือ 10% ของยอดหนี้ค้าง หรือคิดง่ายๆ จ่ายหนี้คืน 500 บาท ยอดหนี้คงค้างที่เหลือ 4,500 บาท จะถูกปิดจบทันที ลูกหนี้พร้อมเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ และเข้าถึงสินเชื่อได้

ดังนั้น ในระยะที่เหลือ 2 เดือนนี้ ลูกหนี้ที่สนใจอยากล้างหนี้ออกให้หมดไวๆ ต้องรีบสมัครเข้าร่วมโครงการคุณสู้ เราช่วย ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ก่อนจะปิดรับสมัครในวันที่ 28 ก.พ.68

แบงก์ให้สินเชื่อเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม “คุณสู้ เราช่วย” เป็นมาตรการเสริมที่ช่วยเหลือประชาชนชั่วคราว แต่ช่วงต้นปี 2567 แบงก์ชาติ ได้ออกมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending : RL) เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัวโดยไม่จำเป็น และสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น ผ่านการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้มข้นขึ้น

โดยมาตรการ RL ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ1.ช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.67 2.ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้ปิดหนี้ได้ภายใน 3 ปี และ 3.การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น

ลูกหนี้สามารถใช้ช่องทางติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาปัญหาหนี้และขอปรับโครงสร้างหนี้ได้โดยตรง ผ่านสาขาของสถาบันการเงิน หรือช่องทางเสริมของ ธปท. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้

ได้แก่ ทางด่วนแก้หนี้ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://app.bot.or.th/1213/DebtCase หมอหนี้เพื่อประชาชน ผ่านเว็บไซต์ https://app.bot.or.th/doctordebt หรือติดต่อร้องเรียนและขอคำปรึกษาปัญหาทางการเงินได้ที่สายด่วน ธปท. 1213

จากความพยายามทั้ง “รัฐบาล” ผู้ให้บริการด้านการเงินทั้ง “ธนาคาร” และ “นอนแบงก์” พร้อมช่วยเหลือ “ลูกหนี้” ต่อลมหายใจออกไปได้อีกครั้ง ก็หวังว่านโยบายเวอร์ชั่นนี้จะ “เวิร์ก” และช่วยแก้หนี้คนไทยได้บ้าง…