แบงก์ ประสานเสียง กนง.ประชุม 26 ก.พ.นี้ คงดอกเบี้ย 2.25%

ไม่ลดง่าย! “แบงก์” ประสานเสียง กนง.ประชุม 26 ก.พ.นี้ คงดอกเบี้ย 2.25% แม้เงินเฟ้อต่ำ ชี้ปี’68 จีดีพีโต 2.8% ต่ำกว่า 3%

วันนี้ (24 ก.พ.68) ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.68 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ขณะที่กำลังประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ

ดร.ทิมกล่าวว่า กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นการประชุมในเดือนมิ.ย. หรือหลังจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และ ธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย

“อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงไม่วางใจต่อการเติบโตและภาพรวมภายนอกประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3% คาดว่าขยายตัว 2.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ขยายตัว 2.5%”ดร.ทิมกล่าว

ขณะเดียวกัน แม้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นเพราะความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการส่งออกรถยนต์หดตัวในปี 2567 และหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม การบริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวลง และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟสต่อไปมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท (หรือ 0.8% ของจีดีพี) ซึ่งมีกำหนดเริ่มโครงการในเดือนเม.ย.นี้ ยังเป็นที่จับตามอง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากต้นปีจนถึงต้นเดือนก.พ.68 อยู่ที่ 3.97 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2562 และคาดว่าตัวเลขจะดีขึ้นอีกในครึ่งปีหลังของปี 2568

“ในครึ่งปีหลัง อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของสหรัฐ  อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังขาดปัจจัยหนุนอื่น นอกเหนือไปจากการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว” ดร.ทิมกล่าวเสริม

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า TISCO ESU คาดว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.68 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต ท่ามกลางประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่ลดลง โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

“จากสัญญาณที่ กนง. ส่งออกมาในการประชุม Monetary Policy Forum เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้มองว่า กนง. จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน พร้อมติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ และทิศทางนโยบายต่าง ๆ ของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ (Tariff)” นายเมธัส กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อีก 1 ครั้งในปีนี้ โดยจะปรับลดในช่วงกลางปีเป็นต้นไป จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มปรับลดตั้งแต่การประชุมนัดแรกของปี 2568

นายเมธัส กล่าวว่า ปี 2568 แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน แต่ยังมีโอกาสขยายตัวที่ 3.0% หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งจากรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสามารถดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ให้เกิดขึ้นจริง จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในปี 2567 ที่มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี

ขณะที่การบริโภคในประเทศ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2567 แต่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ โดยคาดว่าจะมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการแจกเงินเพิ่มเติมอีกหลายเฟส

“เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตที่ 3% แต่มีความเสี่ยงด้านลบ (Downside Risk) หลายประการ ทั้งภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การเติบโตของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี ภาคการผลิตทีี่เผชิญแรงกดดัน รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นายเมธัส กล่าว