วันนี้ (13 ก.พ.68) ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากปี 2567 สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่มีภัยคุกคามมากมาย แต่อัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทผันผวนราว 7 บาท เมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2568 คาดว่าค่าเงินบาทขยับขึ้นและขยับลงอยู่ในช่วง 9 บาท
ดร.รักษ์กล่าวว่า หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามทำนโยบายขึ้นภาษี (Tax) และมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เพื่อมุ่งหมายโจมตีค่าเงินหยวนของประเทศจีน ดังนั้น จะเห็นทั้ง 2 ประเทศใช้เครื่องมือในมุมของค่าเงิน ผ่านการทำภาษี
“ปีที่แล้วสหรัฐและจีนยังไม่ขึ้นชกกันเลย บอกแค่กำลังจะชกกันตอนไหน ค่าเงินบาทไทยยังเหวี่ยงขนาดนั้น ดังนั้นปีนี้มีความผันผวนแน่นอน”ดร.รักษ์กล่าว
ดร.รักษ์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในความผันผวนดังกล่าว มันอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการสามารถตึงค่าเงินที่เพียงพอต่อกิจการของคุณได้หรือไม่ ซึ่งธนาคารจะทำหน้าที่ให้ความรู้ ทั้งด้านสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) สิทธิในการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ (FX Option) การป้องกันความเสี่ยง หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนของมูลค่าหลักทรัพย์ (Hedging) ที่ไม่มีความหวือหวามากนัก
เพราะฉะนั้น ค่าเงินบาท หลายคนบอกว่าอัตราที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะต้องเติมความรู้ให้ผู้ประกอบการในปีนี้ คือหาค่าเงินที่ตอบโจทย์ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขายของผู้ประกอบการ โดยที่ไม่ต้องไปวัดดวงว่าอัตราแลกเปลี่ยนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอาจจะได้การขายที่ค่าเงิน 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
“ผู้ประกอบการควรตึงค่าเงินที่ชอบและเพียงพอต่อธุรกิจนั่นคือโจทย์ที่ต้องดำเนินการในปีนี้”ดร.รักษ์กล่าว
ดร.รักษ์กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3% เป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 40 ล้านคน การใช้จ่ายภาครัฐบาล 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2568 มีการเบิกจ่ายการลงทุน 160% รายจ่ายประจำ 20%
การบริโภค จากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นต่างๆ ทำให้เกิดการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุน โดยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนฯ ปี 2567 มูลค่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี
ขณะที่ภาคการส่งออกไทยปี 2568 ยังขยายตัวต่อได้ถึง 2-3% ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ การเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ แผงโซลาร์
โอกาสส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ การย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติเข้ามาในไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง
และการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ สินค้าไทยอาจโดนมาตรการจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ สูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์ เครื่องจักร หรือถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่ม อาทิ สินค้าเกษตร น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จีนได้รับผลกระทบ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา
รวมถึงสินค้าไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้าสู่ไทยและตลาดโลก อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ความผันผวนด้านต้นทุนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และค่าเงินที่ยังผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง
“เหตุที่ไทยยังเซ็กซี่ เพราะไทยใช้นโยบายการทูตที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังนั้น การลงทุนที่ไทยยังไม่โดนติดสติกเกอร์ว่าเป็นลูกไล่ของสหรัฯ หรือจีน นั่นคือจุดยืนที่ได้เปรียบในเวทีโลก“ดร.รักษ์กล่าว