ลุ้น “แบงก์ชาติ” ปล่อยกระสุนใหม่ หั่นดอกเบี้ยไทย ลดพิษ “ภาษีทรัมป์”

จับตา 30 เม.ย.นี้ “นักเศรษฐศาสตร์” ฟันธง “แบงก์ชาติ” หั่นดอกเบี้ย 0.25% อุ้มเศรษฐกิจเสี่ยงทรุด พร้อมหวังลดพิษ “ภาษีทรัมป์” โต้เดือด “จีน” ทำการค้าโลกป่วน “ไทย” โดนหนักทั้งทางตรง-อ้อม

จากวันที่ 2 เม.ย.68 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยไทยอยู่ในลิสต์การปรับขึ้นภาษีสูงที่ 36-37% อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ได้เลื่อนกำหนดการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวออกไปอีก 90 วัน จากเดิมจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย.68 โดยเปิดพื้นที่ให้เจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์การขึ้นภาษี “ทรัมป์” ที่ผ่านมา มีเพียงประเทศจีนที่ตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ อย่างดุเดือด โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 145% หรืออาจเพิ่มถึง 245% ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 125% พร้อมกับบอกว่าจะไม่มีการตอบโต้ด้วยภาษีมากไปกว่านี้แล้ว

แต่ล่าสุดวานนี้ (17 เม.ย.) ฝั่งของ “ทรัมป์” กลับผ่อนคลายลงและเริ่มแสดงท่าทีว่าไม่อยากให้อัตราภาษีสูงขึ้นอีกแล้ว เพราะกังวลเรื่องการค้าขาย เมื่อสินค้าราคาแพง ความต้องการซื้อสินค้าจะน้อยลง จึงอาจมีการชะลออัตราภาษีลงเพื่อให้เกิดกิจกรรมการค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาสงครามการค้าที่ยังหาบันไดทางลงอยู่ขณะนี้ ล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงที่ไทยค้าขายกับสหรัฐฯ ขณะที่ทางอ้อม ไทยก็ค้าขายกับจีน หากภาษีเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางด้านการเงินของผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงเศรษฐกิจขณะนี้ยังอยู่ช่วงชะลอตัว

ดังนั้น จึงมีการจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 เม.ย.นี้ อาจจะลดดอกเบี้ย เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีการขึ้นภาษีของทรัมป์ อีกทั้งหากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.68 เพิ่มขึ้น 0.84% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และต่ำกว่ากรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางไว้ที่ 1-3% รวมถึงเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ย

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ระบุว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมเดือนเม.ย.นี้ หลังจากนั้นจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. และลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาส 3

ทำให้ทั้งปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.5% ในสิ้นปี 2568 สอดคล้องกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจของธนาคาร อย่างไรก็ตาม กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด เนื่องจาก ธปท. ไม่ได้ส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาลงอย่างชัดเจน

“ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับธนาคารกลางทุกแห่ง เราได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ลงมาอยู่ที่ 2.4% จากเดิม 2.8% เนื่องจากการค้าโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และตลาดอสังหาริมทรัพย์” ดร.ทิมกล่าว

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

ขณะที่ นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินผลกระทบทรัมป์ขึ้นภาษี ต่อเศรษฐกิจไทยมีค่อนข้างมากที่ราว 1.35 จุด จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% เหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง

เช่น 1. การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น 2. การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น

ประเด็นสุดท้าย มองว่า กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมรอบที่ 2/2568 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประเมินไว้ว่ามีโอกาสที่ กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวจากการหดตัวของสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อที่ยังคงแย่

ส่งผลให้คาดการณ์ว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2 ครั้งในปี 2568 และอีก 1 ครั้งในปี 2569 และทำให้อัตราดอกเบี้ยสุดท้าย (Terminal rate) ในรอบการลดดอกเบี้ยนี้จะอยู่ที่ 1.25%

โดยเหตุผลสำคัญที่เชื่อว่าดอกเบี้ยควรลดลงเพิ่มเติม ดังนี้

1.ปัญหาด้านความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินลดน้อยลงมาก ปัจจุบันธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และสินเชื่อภาคธนาคารหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณหนี้ต่อจีดีพีของไทยเริ่มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการสื่อสารของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมากล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้จะไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน

2.สัญญาณในตลาดการเงินหลายส่วนสะท้อนว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอาจตึงตัวมากเกินไป อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีต นอกจากนี้ สัญญาณของตลาดการเงินทั้งเงินบาทที่แข็งค่า อัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยระยะยาวที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อาจส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเกินไป

ทั้งนี้ ผลการประชุม กนง. ในรอบ 30 เม.ย.68 จะเป็นอย่างไร คงต้องรอลุ้นไปพร้อมกัน หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจริง คนที่ได้ประโยชน์มากกว่า “ภาคส่งออก” จากเหตุ “ภาษีทรัมป์” ก็คนไทยทั้งประเทศที่มี “ภาระหนี้” ได้ผลดีกันถ้วนหน้า