ฝืนไม่ไหว! “KKP” ชี้เศรษฐกิจไทยขาลง โตรั้งท้ายอาเซียน

ฝืนไม่ไหว! “KKP” หั่นจีดีพีปี’68 เหลือ 2.6% ชี้เศรษฐกิจไทยขาลง โตรั้งท้ายอาเซียน เปิด 3 ปัจจัยรุมเร้า ลุ้น “แจกหมื่น” พยุงเศรษฐกิจฟื้น

วันนี้ (2 ธ.ค.67) รายงานจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายนและภายนอก หากไม่ปรับตัวมีความเสี่ยงเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิมที่ 3.0% – 3.5%

โดยไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาค ASEAN ในช่วงหลังวิกฤติโควิด ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.6% ในปี 68 และเติบโตได้ 2.4% ในปี 69


ข่าวน่าสนใจอื่น


สำหรับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงในปีหน้าเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว อาทิ 1.ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องมามากกว่าปี และเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มเติม โดยเฉพาะหากมีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการส่งออกไทย

2.ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น 3.การหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า และ 4.การเข้าสู่สังคมสูงอายุ กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

3 ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มเผชิญกับการเติบโตต่ำจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่

  1. ภาคบริการและการท่องเที่ยวจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่าเดิม: จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 68-69 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 6.9% ต่อปี ลดลงเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวช่วงหลังการเปิดประเทศหลังโควิดที่โตได้กว่า 255%
  2. ภาคการผลิตยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว: การหดตัวของภาคการผลิตไทยในปี 67 เกิดจากการหดตัวของการผลิตรถยนต์เป็นหลัก นอกจากนี้ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหน่วยความจำแบบ SSD เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้การผลิต HDD ลดลงกว่า 50% ตั้งแต่ปี 64
  3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการลดลงของการปล่อยสินเชื่อใหม่: ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ

รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 67-68 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยพอขยายตัวต่อได้ แบ่งเป็น 3 ระยะ

  • ระยะที่ 1: งบประมาณ 142,000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.7% ของ GDP) ถูกใช้ในไตรมาสที่ 4 ปี 67 ผ่านการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง
  • ระยะที่ 2: รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 184,000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.9% ของ GDP) จะถูกแจกเป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุ 5-8 ล้านคนภายในเดือนมกราคม
  • และระยะที่ 3: หลังจากสองระยะแรก ยังเหลืองบประมาณราว 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปแจกให้กับประชาชน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ปี 68

แม้จะมีการแจกเงินสดรอบใหม่คาดว่ามาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว

เศรษฐกิจเสี่ยงโตต่ำกว่าคาด

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 68 ยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่าที่ประเมินว่าจากความเสี่ยงของนโยบายภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ไทยมีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย โดยมีการส่งออกคิดเป็นประมาณ 9% ของ GDP

และเกินดุลการค้ามูลค่ากว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 12 ของโลก และการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงถูกมาตรการการค้าเพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมากประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าขนาดใหญ่มีแนวโน้มใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองด้านการค้าระหว่างประเทศโดยสินค้าในกลุม Rerouting ที่นำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไป US มีแนวโน้มได้รับผลกระทบก่อน เช่น Solar Panel, Wifi Router ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากเพราะมูลค่าเพิ่มที่ถูกสร้างในประเทศอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบกับสินค้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม คือ 1.กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ หากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะกระทบสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์

2.กลุ่มสินค้าที่ไทยมีการคิดภาษีกับสหรัฐ ฯ สูงกว่าสหรัฐ ฯ คิดกับไทย โดยสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มต่อรองให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกับสหรัฐ ฯ ลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กระทบสินค้าในกลุ่มอาหารและภาคเกษตร

3.กลุ่มสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ในสถานการณ์ที่สหรัฐ ฯ ขึ้นภาษีกับประเทศจีนที่ 60% มากกว่าประเทศอื่น ๆ จะเป็นความเสี่ยงที่อาจเห็นสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาด ASEAN และไทยเพิ่มเติม สินค้าที่มีการขาดดุลเยอะในช่วงที่ผ่านมา คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์และชิ้นส่วน