![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738842646_556425-ejan-768x402.jpg)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน ปี 2568 โดยข้อมูลเมื่อช่วงเดือน พฤศจิกายน 2567 พบว่าเนื้อที่ให้ผล 6.439 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 1.52% จากปี 2567 มีจำนวน 6.343 ล้านไร่ ผลผลิต 18.901 ล้านตัน จากเดิม 18.606 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.58% ผลผลิตต่อเนื้อที่ เพิ่มขึ้น 0.007% ให้ผล 2,935 กก./ไร่ จากเดิม 2,933 กก./ไร่ เนื้อที่ให้ผลภาพรวมประเทศ ปี 2568 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นมากในแหล่งผลิตในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเมื่อปี 2565 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้ ซึ่งการขยายเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อปี 2565 มีสาเหตุมาจากราคาปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี 2565 อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปี 2564 เกษตรกรจึงปลูกปาล์มน้ำมันแทนพื้นที่ปลูกยางพารา
สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 จนถึงช่วงต้นปี 2568 ซึ่งส่งให้ปาล์มน้ำมันได้รับปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน น้ำหนักทะลายของปาล์มน้ำมันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในปี 2568 จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงต้นปี 2567 จนถึงพฤษภาคม 2567 ต้นปาล์มน้ำมันบางส่วนได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ทะลายไม่สมบูรณ์หรือมีบางส่วนแห้งฝ่อ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตรวมปี 2568 เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผล
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738840276_157765-ejan-1024x683.jpg)
ด้านราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกรขายได้ ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.67 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 7.04% เนื่องจาก ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลก การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2567 (ม.ค. – พ.ย.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปี 2566 ทั้งปริมาณ และมูลค่า โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 2.95% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 11.95% ขณะที่ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกรขายได้ ณ มกราคม 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.28 บาทต่อกิโลกรัม ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2568 เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และจะเริ่มออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนเมษายน 2568 ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738840287_714410-ejan-1024x683.jpg)
สำหรับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในปี 2568 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.47 ในแง่ปริมาณ แต่คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มในประเทศราคาปรับตัวสูงขึ้น อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีนและอินเดีย อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนในตลาดโลกองค์กรเศรษฐกิจระดับโลก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะเติบโตร้อยละ 2.7 – 3.2 และอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อการบริโภคที่ขยายตัว โดยเฉพาะในจีนที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอินเดียที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความผันผวนของสภาพอากาศโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มในหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตอย่างไทยมีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ