เอกชน นัด 6 ธ.ค. ส่งข้อมูล “รัฐ” ท้วงปรับค่าจ้าง 400 ยึดหลักไตรภาคี

เอกชน นัด 6 ธ.ค.67 ส่งข้อมูล “รัฐบาล” แนะปรับค่าจ้าง 400 บาท ยันขึ้นได้แต่ต้องเหมาะสม-เคารพไตรภาคี พร้อมยกคำพูด “เศรษฐา” ลั่นนายกฯ ไม่มีอำนาจสั่งขึ้นค่าแรง

วันนี้ (4 ธ.ค.67) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อยากให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดย กกร.มีมติร่วมกันในการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 6 ธ.ค.67

นายสนั่นกล่าวว่า กกร.ได้จัดทำหนังสือเอกสารที่ทำการศึกษาข้อมูลทุกจังหวัดในประเทศไทยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ และความเป็นไปได้ใรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งมีข้อแนะนำในการดำเนินการนโยบายดังกล่าว

“กกร.จะนำส่งเป็นข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกับรัฐบาล ซึ่งจะมีการส่งมอบหนังสือวันที่ 6 ธ.ค.67 เชื่อว่าทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันศึกษาถึงความเหมาะสม”นายสนั่นกล่าว


ข่าวน่าสนใจอื่น


สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่วนนี้ กกร.มองว่าเศรษฐกิจยังอยู่ช่วงกำลังฟื้นตัว รวมถึงแต่ละจังหวัดมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจแตกต่างกัน จึงสมควรที่จะดูว่าการประเมินถึงความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกัน ก็มีไตรภาคีของแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว ดังนั้น ควรพิจารณาเชิงลึกและถี่ถ้วนว่าอัตราการปรับขึ้นสมควรจะเป็นอย่างไร

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่นกล่าว สำหรับข้อมูลนี้ กกร.ได้ศึกษาและสำรวจในทุกภาคส่วน เพื่อความรอบครอบ และเพื่อเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาของรัฐบาล และของไตรภาคี ที่จะได้รับข้อมูลที่ได้ศึกษาดังกล่าว เพื่อผลสรุปที่ออกมาเป็นประโยชน์ทั้งประชาชนและเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลประกาศต่อรัฐสภาว่าจะขึ้นค่าแรง 400 บาท หากย้อนไปที่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่านายกฯไม่มีอำนาจในการปรับขึ้นค่าแรง แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของไตรภาคี ซึ่งเอกชนเคารพการตัดสินใจของไตรภาคี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.67 การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเบื้องต้นบอร์ดไตรภาคี นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 11-12 ธ.ค.67 จากนั้นจะพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ของทุกจังหวัดให้ปรับขึ้นมาอยู่ที่วันละ 400 บาททั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางการรองรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รมว.แรงงานเคยระบุจะมีมาตรการออกมาคู่ขนานกัน เพื่อดูแลกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้ปรับตัว โดยอาจจะให้เวลาปรับตัวก่อน 1 ปี จากนั้นปีต่อไปจะพิจารณาขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทอีกครั้ง