แผ่นดินไหว-ภาษีทรัมป์ กดหุ้นไทยร่วงต่ำสุดในรอบ 5 ปี

สาหัส! “กสิกรไทย” ชี้แผ่นดินไหว-ภาษีทรัมป์ ทุบหุ้นไทยร่วงต่ำสุดในรอบ 5 ปี “หุ้นกลุ่มอสังหาฯ-แบงก์” รูดหนัก นักเทรดเทขายแรง คาดสัปดาห์หน้า (8-11 เม.ย.) แนวรับ 1,110-1,100 จุด

วันนี้ (5 เม.ย.68) รายงานจาก บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงท้ายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยว กับผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มแบงก์ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์ดังกล่าวปรับตัวได้ดีสวนทางภาพรวมดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา หลังตลาดประเมินว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้น ก่อนจะกลับไปร่วงลงแรงหลังสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้า (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 เม.ย.เป็นต้นไป) ซึ่งไทยถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นทุกกลุ่มเพื่อลดสถานะความเสี่ยง

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,122.51 จุด อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นไฟแนนซ์ปรับตัวได้สวนทางภาพรวมตลาดเนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย

ในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,125.21 จุด ลดลง 4.27% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,223.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.04% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.91% มาปิดที่ระดับ 238.26 จุด

สัปดาห์ถัดไป (8-11 เม.ย. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,135 และ 1,150 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. บันทึกการประชุมเฟด (18-19 มี.ค.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของจีนดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของยูโรโซน