แผ่นดินไหว เขย่าอสังหาฯ พบคอนโดรอขาย 4.58 แสนล้าน คนเมินซื้อ

ร้าวจริง! “คอลลิเออร์ส ไทย” เผย #แผ่นดินไหว เขย่า ตลาดอสังหาฯ “คอนโด” โดนหนัก หลังพบมูลค่า 4.58 แสนล้านบาท คนชะลอซื้อ แนะ “รัฐบาล” กำหนดเกณฑ์รับอาฟเตอร์ช็อก-เร่งฟื้นความเชื่อมั่น

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา และมีความลึก 10 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่สามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงที่สุด ประชาชนในหลายเขตสามารถสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนชัดเจน

วันนี้ (29 มี.ค.68) นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสียหายที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณีของตึกสูงแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับตลาดนัดจตุจักร ขณะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และได้พังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

นอกจากนี้ อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงแรม ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเกิดการพังทลายและความเสียหายทั้งในส่วนโครงสร้างและงานตกแต่งภายใน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของอาคารสูงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครในปีนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีอุปทานรอการขายในตลาดคอนโดมิเนียมสูงถึงกว่า 458,390 ล้านบาท 

เหตุการณ์นี้จึงสร้างความไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างและความปลอดภัยของอาคารคอนโดมิเนียมในอนาคต ส่งผลให้บางกลุ่มลูกค้าที่กำลังตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมอาจชะลอการตัดสินใจออกไป เพื่อเฝ้าดูสถานการณ์และความถี่ของแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายภัทรชัยกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนช่วยผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างอาคารสูงที่สามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่เสร็จแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถสนับสนุนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการปรับปรุงหรือเสริมความปลอดภัยให้กับโครงการ ผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษหรือการให้เงินสนับสนุนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร อีกทั้งควรมีการสื่อสารข้อมูลและสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบถึงความปลอดภัยของอาคารที่อยู่ในตลาด

ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยสร้างอาคารที่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถพัฒนาระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันเวลา

“การดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”นายภัทรชัยกล่าว