![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738996899_678001-ejan-768x402.jpg)
วันนี้ (8 ก.พ.68) KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยว่า ช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2024 รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) โดยแจกเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มปราะบาง คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)
แต่พบว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในไตรมาส 4/67 ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับการบริโภคในช่วง 3 ไตรมาสแรก ซึ่งหมายถึงการแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไทยเลย
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738995795_572473-ejan.jpg)
โดยผลทางเศรษฐกิจของมาตรการสอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจจากการแจกเงินในภาวะเศรษฐกิจปกติจะอยู่ในระดับต่ำ ประเมินว่าจำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป โดยมี 3 สาเหตุสำคัญ
1.เงินที่ได้รับไปไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติพบว่าคนสัดส่วนประมาณ 12.8% นำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อชำระหนี้ อีกทั้งการใช้จ่ายสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นที่มีการใช้จ่ายเดิมอยู่แล้ว จากผลสำรวจพบการใช้จ่ายกระจุกตัวอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน และการชำระค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้ บางส่วนอาจเก็บเงินที่ได้รับเป็นเงินออม
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738995807_776585-ejan-1024x654.jpg)
2.การใช้จ่ายส่วนหนึ่งอาจเป็นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sectors) ช่องทางที่มีการนำไปใช้จ่ายมากที่สุด คือ ร้านค้าในชุมชน และหาบเร่แผงลอยเป็นหลัก ทำให้การวัดผลของนโยบายต่อเศรษฐกิจทำได้ยากข้อมูลจาก World Bank ชี้ไทยมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ถึงประมาณ 45% ของจีดีพี เป็นลำดับที่ 8 ของโลก
3.ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่ในทิศทางขาลงไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ประเมินว่าทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจาก 1) สินเชื่อภาคธนาคารหดตัว 2) รายได้ของครัวเรือนยังคงอ่อนแอ และ 3) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยัง
ทั้งนี้ ประเด็นที่กล่าวมาอาจอธิบายว่าเหตุใดการฟื้นตัวของการบริโภคยังคงอ่อนแอ แม้ว่าจะมีมาตรการแจกเงินเพิ่มเติม ผลลัพธ์จากมาตรการแจกเงินในช่วงปลายปีแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการนี้ อาจเป็นทางเลือกนโยบายที่ได้ผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มกับต้นทุนทางการคลังที่เกิดขึ้น และเกิดคำถามว่างบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2025 ควรปรับรูปแบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจได้หรือไม่