
ตามที่ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันออกโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยได้เปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 โดยกระทรวงการคลัง เผยข้อมูล ณ วันที่ 7 ม.ค.2568 มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ และอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิแล้ว 180,000 ราย เป็นจำนวนบัญชีกว่า 390,000 บัญชี
ทั้งนี้ มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะมีมาตรการย่อย 2 มาตรการ ได้แก่ 1.จ่ายตรง คงทรัพย์ 2.จ่าย ปิด จบ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีทั้งสิ้น 15 แห่ง และมีบริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ที่ประกอบธุรกิจด้านสินเชื่ออีก 27 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อีก 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 48 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้เปิดให้ลงทะเบียนไปแล้วนั้น ยอดลงทะเบียนกลับมีจำนวนไม่มากนัก หากเทียบกับจำนวนลูกหนี้ในระบบที่กระทรวงการคลัง ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีลูกหนี้จำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

เรื่องนี้ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ว่า มาตรการแก้หนี้ โดยเฉพาะโครงการคุณสู้ เราช่วย ขณะนี้มีลูกค้าของธนาคารเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นตามลำดับ และธนาคารติดต่อลูกค้าที่อยู่ในเกณฑ์คุณสมบัติที่เข้าเงื่อนไข เพื่อชักชวนให้เข้าสู่โครงการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ได้ดีขึ้น
“เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดีขึ้น มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลผลักดันออกมาคาดว่าจะช่วยเพิ่มการลงทุน และมีเม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ได้มากขึ้น” นายชาติศิริกล่าว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ได้เปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 มองว่ามีข้อดี คือทำให้ลูกค้าที่หายไปได้ติดต่อกลับมาหาธนาคาร ขณะนี้มีลูกค้าเข้ามามากพอสมควร
“อย่างไรก็ตาม ต้องดูตัวเลขหลังปิดให้ลงทะเบียนในเดือน ก.พ.นี้ และจะเห็นข้อมูลลูกค้าเข้าเกณฑ์ได้ภายในเดือน มี.ค.68 ว่าจะมีจำนวนลูกค้าที่ผ่านเข้าเกณฑ์โครงการอยู่ที่เท่าไหร่”นางสาวขัตติยากล่าว

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จำนวนลูกค้าที่ติดต่อเพื่อเข้าโครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ดี แต่ไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ ส่วนลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขจากกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ก็ติดต่อมาน้อย ดังนั้น ธนาคารจะปรับวิธีด้วยการติดต่อถึงลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข เพื่อสอบถามถึงการเข้าร่วมโครงการ
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้แจ้ง ธปท. ว่าธนาคารมีแผนการดำเนินงานดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อติดตามลูกหนี้ให้เข้าร่วมโครงการ เพราะมุมมองของธนาคารต้องการให้ลูกหนี้เข้าร่วมจำนวนมาก เพราะเป็นอานิสงส์กับธนาคาร ในเรื่องพอร์ตหนี้ที่จะชะลอตัวลงด้วย
“ดังนั้น ส่วนของธนาคารจะปรับรูปแบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์มากขึ้น แทนที่จะมีเว็บไซต์ให้ลงทะเบียนแล้ว ธนาคารจะติดต่อกับลูกหนี้เอง เพื่อสอบถามการเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นี้ด้วย”นายกฤษณ์กล่าว

สำหรับรายละเอียดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” แบ่งเป็น 2 มาตรการ 1.จ่ายตรง คงทรัพย์ ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท สินเชื่อรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยการเข้าโครงการจะสามารถแก้หนี้ได้ 1 สัญญา ต่อประเภทสินเชื่อ ต่อหนึ่งสถาบันการเงิน
โดยรูปแบบในการช่วยเหลือ จะมีการลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกจะลดค่างวดที่ 50% ปีที่สอง 70% และปีที่สาม 90% โดยจะนำค่างวดทั้งหมดไปตัดเงินต้น และจะพักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะยกเว้นทั้งหมดให้ หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดสัญญาในช่วงที่อยู่ในมาตรการ

บัญชีที่สามารถเข้าโครงการได้ จะต้องทำสัญญาก่อน 1 ม.ค.67 และต้องมีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค.67 อย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน หรือ 1 ปีสำหรับเงื่อนไขการเข้าโครงการ ลูกหนี้ต้องทำสัญญาไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 12 เดือนแรก ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะพิจารณา
สำหรับมาตรการที่ 2.จ่าย ปิด จบ ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่เป็นหนี้เสียต่อบัญชีไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดสินเชื่อ สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 บัญชี โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเกิน 90 วัน ณ วันที่ 31 ต.ค.67
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo (คลิก) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 ก.พ.68