หอการค้า ชี้ภาษีทรัมป์ ทำออร์เดอร์หยุด-สินค้าค้างสต๊อก

ส่อแววทรุด! “หอการค้า” ชี้เหตุภาษีทรัมป์ ทำพิษ “เอกชน” ห่วงซื้อ-ขายสินค้าล่วงหน้าหยุดชะงัก หลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 36% “ใครรับผิดชอบ” พร้อมห่วงสินค้าค้างสต๊อก “ไม่ได้ส่งออกเพียบ”

วันนี้ (9 เม.ย.68) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) หลายประเทศ โดยประเทศไทยถูกเรียกเก็บที่อัตรา 36-37% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ประเมินไว้

นายพจน์กล่าวว่า โดยหลังวันที่ 9 เม.ย.68 จะเริ่มเก็บภาษีไทยถึง 36% ขณะนี้มาตรการของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการเก็บภาษีรอบแรกมีผลในวันที่ 5 เม.ย.68 ได้ถูกเลื่อนออกไปแล้ว ดังนั้น การเรียกเก็บภาษีในวันที่ 9 เม.ย.นี้จะเป็นอย่างไรต้องรอความชัดเจนจากสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากมีการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างกันได้ทำสัญญาล่วงหน้าและตกลงราคาไว้แล้ว เมื่อมีภาษีมาใหม่ จะต้องดูว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบการเสียภาษี รวมถึงออเดอร์ค้างเก่าที่ยังมีอยู่ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคุยกัน

“จากภาษีไม่ทำให้การซื้อ-ขายต่อกันจะเป็นอย่างไร ภาระภาษีอยู่กับใคร ถ้าผู้นำเข้าบอกว่าภาษีมาอยู่กับประเทศไทย มันทำให้ราคาขายไม่ได้เพราะภาษีมันสูงเหลือเกิน ถ้าเป็นภาระของผู้นำเข้าอาจไปเพิ่มราคาขาย แต่อาจจะมีปัญหาตามมาคือทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น”นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเรื่องของสินค้าผ่านแดน (สินค้าสวมสิทธิ) เรื่องนี้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาดูแลและเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะใน 49 หมวดสินค้าสำคัญ เบื้องต้นยอมรับว่าความเสียหายยังไม่เห็น แต่ค่าเสียโอกาสเยอะแน่ เพราะผู้ประกอบการทั้งฝั่งไทยและสหรัฐฯ ยังไม่กล้าซื้อขายระหว่างกัน

หากสหรัฐฯ มีการต่อเวลาในการเจรจาถึงเดือน ก.ค.68 หรือต่อเวลาไปจนกว่าจะเจรจากันจบ อาจทำให้ตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย.-พ.ค.68 มีผลกระทบไม่มากนัก แต่หากคุยไม่จบตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.68 จะเป็นปัญหาใหญ่ โดยไทยจะขายสินค้ากับสหรัฐฯ ไม่ได้

ทั้งนี้ ต้องการเสนอให้มีการตั้งทีมไทยแลนด์ ที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดทั้งข้อเสนอแนะ ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทิศทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องขยายตลาดการส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการหา ตลาดในอาเซียน +3 (กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าความตั้งใจที่รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ เป็นทิศทางที่ดี หากเจรจาไม่เป็นผล และสหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บภาษีในระดับดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยแน่นอน โดยยืนยันว่าไม่อยากให้มองผลกระทบระหว่างสหรัฐฯ กับไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างไทยกับโลกด้วย

“การเจรจาทุกอย่างต้องมีคนได้คนเสีย อยากได้บางอย่าง อาจต้องเสียบางอย่าง ซึ่งอยู่ที่หน้าที่ของรัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมา หอการค้าได้หารือกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าการเจรจามาถูกทางและมีแบบแผนชัดเจน ทั้งเรื่องการนำเข้าสินค้า เพื่อสร้างการสมดุลทางการค้า การแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิสินค้าด้วย”นายพจน์ กล่าว