ลุ้นพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) บอร์ดค่าจ้างถกขึ้นค่าแรง 400 บาท

ลุ้นพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) ถกขึ้นค่าแรง 400 นายจ้างลั่นการเมืองอย่าแทรกแซง!

วันนี้ (19 ก.ย.67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) เวลา 13.30 น. ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เชิญกรรมการไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย อาทิ ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายราชการ ฝ่ายละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน เข้าร่วมประชุมที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งผลการประชุมจะเป็นอย่างไรจะได้ประกาศให้ทุกท่านได้ทราบ

“ขอความกรุณากรรมการทั้ง 15 ท่าน ขอให้เห็นใจลูกจ้างบ้าง ขณะนี้ลูกจ้างก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน เศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนก็กระทบหมด ส่วนนายจ้าง ตัวผมเองเห็นใจเป็นอย่างสูงอยู่แล้ว แต่ท่านจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็ขอเชิญเข้าห้องมาประชุมกัน เพื่อปลัดจะได้ชี้แจงว่าสิ่งที่เราจะขึ้นค่าแรงมีอะไรบ้าง”นายพิพัฒน์กล่าว

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนึ่งในกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การประชุมสรุปการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) กรรมการฝั่งนายจ้างจะเข้าร่วมประชุม เพื่อต่อรองเงื่อนไขการปรับขึ้นค่าจ้าง แม้จะเห็นสัญญาณชัดจากฝั่งรัฐบาลที่ต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม หากปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1.ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ตามขนาดกิจการ คือ กลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งหากการปรับขึ้นค่าแรงไม่รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีอยู่กว่า 3.2 ล้านกิจการ การจ้างงานกว่า 12 ล้านราย ลูกจ้างกลุ่มนี้จะไม่ได้รับประโยชน์ และอาจทำให้เกิดการไหลของแรงงานไปอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่

และ 2.ปรับขึ้นค่าแรงตามกลุ่มกิจการ ยิ่งอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านค่าแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน การปรับค่าแรงจะทำให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์มากกว่า 2.5 ล้านคน จากทั้งหมด 3.3 ล้านคน

“นายจ้างมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงในรอบนี้ เนื่องจากในปีนี้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง แล้วเหตุใดจึงต้องเร่งปรับขึ้นค่าแรงให้เป็น 400 บาท และไม่เห็นด้วยที่จะเอานโยบายการเมืองมาแทรกแซงการพิจารณาค่าจ้าง เพราะธงของการเมือง คือ เป้าหมายที่จะผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ระดับ 600 บาท”นายธนิตกล่าว

ขณะเดียวกัน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช หนึ่งในกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เตรียมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อสำคัญ คือ ขอไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการปรับขึ้นค่าแรง ขอให้คณะกรรมการพิจารณาด้วยความเป็นธรรม และขอให้ทุกอย่างดำเนินตามกฏหมายและข้อระเบียบที่มีอยู่

“ตามหลักแล้ว การประชุมไม่จำเป็นจะต้องให้ได้ผลสรุปการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ภายในวันพรุ่งนี้ แต่เชื่อว่าต้องการผลักดันก่อนที่ปลัดกระทรวงแรงงานจะเกษียณอายุราชการ”นายอรรถยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีมาตรการ เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จำนวน 7 มาตรการ โดยส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาบ้างแล้ว เช่น มาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ที่มีแรงงานในบริษัทมากกว่า 200 คนขึ้นไป โดยลดการนําส่งสําหรับนายจ้าง 1% ตั้งแต่เดือนต.ค.67-ก.ย.68 เป็นเวลา 12 เดือน, มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน, มาตรการลดภาษีในกรณีที่มีการฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น