
วันนี้ (3 เม.ย.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ (National AI Committee) หรือ บอร์ดเอไอแห่งชาติ
โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมประชุมนัดแรกในช่วงต้นเดือน เม.ย.68 เพื่อวางเป้าขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ หวังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยสู่เวทีโลก

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เป็นรองประธาน ร่วมด้วย ขณะที่ ปลัดกระทรวงดีอี และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่เลขานุการร่วม ขณะที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) รวมถึงภาคเอกชน เช่น สมาคม AI และภาคการเงิน เข้ามามีบทบาทในฐานะกรรมการร่วมผลักดันนโยบาย
นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลมองว่าอุตสาหกรรม AI คือหัวใจสำคัญของอนาคต และประเทศไทยต้องมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยเน้นการสร้าง Deep Tech ปั้นโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ (LLM) สนับสนุนการประยุกต์ใช้ดาต้าร่วมกับเอไอในทุกภาคส่วน ช่วยเสริมประสิทธิภาพองค์กรและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ

ดังนั้น สาระสำคัญของแผนแม่บทที่จะเข้าสู่การประชุมบอร์ดเอไอแห่งชาตินัดแรก จะครอบคลุมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน AI ให้ประชาชน (AI Literacy), พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล, สนับสนุน LLM ภาษาไทย และออกแบบระบบนิเวศที่เอื้อให้รัฐและเอกชนใช้งาน AI ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลจึงเตรียมนำงบจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาบริหารอย่างมีทิศทาง มุ่งเชื่อมต่อ Global Foundation Model เข้ากับนวัตกรรมภายในประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนาและใช้ AI อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2568
โดยกระทรวงดีอีเตรียมเดินหน้าส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาร่วมลงทุน ตั้งเป้าผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลาง AI ของอาเซียน พร้อมหนุนสตาร์ตอัปและเอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยี AI อย่างทั่วถึง ยกระดับทักษะแรงงานผ่านโครงการอัปสกิล-รีสกิล เพื่อป้อนบุคลากรด้านไอทีเข้าสู่ตลาดอย่างเร่งด่วน