อ่วม! พิษน้ำท่วม 3 ภาค เสียหาย 8.5 หมื่นล้าน ฉุดจีดีพีวูบ 0.6%

อ่วม! พิษน้ำท่วม 3 ภาค ทำเศรษฐกิจเสียหาย 8.5 หมื่นล้าน ฉุดจีดีพีวูบ 0.6% ลุ้นปี’67 จีดีพีโต 2.8% รับส่งออกโต-รัฐเเบิกจ่ายงบฯเพิ่ม

วันนี้ (4 ธ.ค.67)  นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมส่วนภาคใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง

เบื้องต้นหากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว น่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.03 –0.06% ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงย่านการค้าสำคัญของ จ.สงขลา

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์น้ำท่วมงประเทศไทยปี 67 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 75,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี

ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายของน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ น่าจะมีความเสียหายราว  80,000 – 85,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของจีดีพี

นายสนั่นกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ คาดว่าจะโตได้ราว 4% ในไตรมาสที่ 4/67

ขณะที่ปี 68 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และมาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา

อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ

ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ กกร.ขอชื่นชมภาครัฐที่สามารถเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้ FTA-EFTA ระหว่างประเทศไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าของประเทศไทยในอนาคต