![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1739026845_894174-ejan-768x402.jpg)
“อสังหาฯ อ่วมหนัก ค่าที่ดิน-ก่อสร้าง พุ่งสูง ดันบ้านนคอนโดโครงการใหม่ ปรับราคาขึ้น”
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยผลสำรวจโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ย่านมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ขณะที่คอนโดมิเนียมย่านห้วยขวาง จตุจักร ดินแดง ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด
โดยราคาบ้านจัดสรรใหม่ เพิ่มขึ้น 0.8% ติดต่อกันถึง 9 ไตรมาส ขณะที่ราคาห้องชุดใหม่ เพิ่มขึ้น 3.6% เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 8 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าก่อสร้าง รวมถึงค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ที่อยู่อาศัยในโครงการเปิดขายใหม่มีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่า การจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของสถาบันการเงินจะช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2568 โดยได้รับแรงสนับสนุนให้สถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัย
ราคาห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.4% แต่ราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าราคาห้องชุดในพื้นที่ 82 จังหวัดปริมณฑล สมุทรปราการ และนนทบุรี เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอาคารชุดในกรุงเทพฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ย่านห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง ในกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท ส่วนทำเลปริมณฑล ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ ในกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท
ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ไตรมาส 4 ปี 2567 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 159.9 จุด เพิ่มขึ้น 3.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สะท้อนถึงต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ “ที่ดิน” แนวรถไฟฟ้าที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาทิ รถไฟฟ้า BTS สายสีลม และ MRT สายสีน้ำเงิน
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจัดรายการส่งเสริมการขายห้องชุด โดยให้ส่วนลดเงินสดในสัดส่วน 25.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีสัดส่วน 21.7% เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ซื้อเช่นเดียวกับโครงการบ้านจัดสรร
กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปรับราคา
ราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนี 131.4 จุด เพิ่มขึ้น 0.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น 2.3% สูงกว่าพื้นที่ 3 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่มีค่าดัชนีลดลง 1.0% โดยการลดลงดังกล่าวเกิดจากการ “ลดราคา” ของดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์
โดยราคาบ้านเดี่ยวปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2.1% ทาวน์เฮ้าส์ปรับราคาเพิ่มขึ้น 0.3% นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจัดรายการส่งเสริมการขาย โดยการให้ส่วนลดเงินสดในไตรมาสนี้สูงถึง 29.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีสัดส่วน 21.0% ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งบ้านเดี่ยวในกรุงเทพ ฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ย่านมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ในกลุ่มราคาเกิน 10 ล้านบาท ส่วนทำเลบ้านเดี่ยว 3 จังหวัดปริมณฑล ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ย่านลำลูกกา คลองหลวง ธัญบุรี ในกลุ่มราคา 7.5-10 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ในกรุงเทพฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ย่านพระโขนง บางนา สวนหลวง ประเวศ ในกลุ่มราคา 5-7.5 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ใน 3 จังหวัดปริมณฑล ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ย่านบางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง ไทรน้อย ในกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท
ส่วนต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน (HCCI) ค่าดัชนีเท่ากับ 139.9 เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงต้นทุนค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงาน โดยสุขภัณฑ์ ราคาเพิ่มขึ้นถึง 12% กระเบื้อง 5.6% อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา 3.7% ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 2.2% และวัสดุอื่นๆ 5.7% เป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่สูงขึ้นในตลาดโลก ส่วนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น 4% ภาวะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับราคาเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาขายที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ปรับเพิ่มขึ้น! ขณะที่กำลังซื้อของประชาชน “ลดลง” จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำ คาดว่าโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย “ดอกเบี้ยต่ำ” ของสถาบันการเงินรัฐ จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2568 ได้