“เอกชน” ชี้แจกหมื่นแรงไม่พอ กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้น

ยังแรงไม่พอ! “เอกชน” ชี้แจกหมื่นไร้ประสิทธิภาพ ไม่ช่วยปั๊มเศรษฐกิจฟื้น แนะปี’68 “รัฐบาล” อัดฉีดมาตรการใหม่เพิ่ม

วานนี้ (6 พ.ย.67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสัมรวจหัวข้อทัศนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรพิการ “เงิน 10,000 บาท” ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน คิดเป็น 23% ของประชากรไทย วงเงินกว่า 145,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ก.ย. 67 นั้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 ตัวอย่างทั่วประเทศ ผู้ตอบมากถึง 52.7% บอกว่าใช้แล้วแต่ยังไม่หมด และอีก 47.3% ใช้หมดแล้ว โดยเกือบ 100% ของผู้ได้รับเงินใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

สะท้อนว่าเงินมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือราวๆ 100,000 ล้านบาทถูกใช้เข้าสู่ระบบแล้ว แต่ยังไม่เห็นภาพที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะในช่วงเดือน ก.ย-ต.ค. เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ คาดว่าทำให้เศรษฐกิจเสียหายราว 50,000-60,000 ล้านบาท

ความเสียหายจากน้ำท่วม จึงดูดเงิน 100,000 ล้านบาทไปบางส่วน ทำให้คนมีเงินเหลือใช้จ่ายไม่มากนัก และทำให้เศรษฐกิจยังไม่ถูกกระตุ้นเท่าที่ควร

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“ประชาชนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมากจึงไม่มั่นใจในการใช้จ่าย มาตรการนี้เหมือนยิงกระสุนแล้วได้นกครึ่งตัว ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมองว่า จนถึงปลายปีนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น แต่จะเริ่มฟื้นไตรมาสแรกปี 68 และฟื้นอย่างโดดเด่นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 68 เป็นต้นไป”นายธนวรรธน์กล่าว

ดังนั้น ในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใส่มาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ภาคเอกชนเสนอ โดยเฉพาะมาตรการ e-Receipt ที่กระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนเพื่อการลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องสูญเสียงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเลย และหากภาคการส่งออกที่จะดีขึ้นและโตได้ถึง 2.5-3% มากกว่าเป้าหมาย 1-2%

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวที่จะเด่นขึ้นช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตเกษตรเริ่มออกสู่ตลาด ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2.6-2.8% ตามที่คาดการณ์ไว้ และจะมีแรงส่งให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 68 ขยายตัวอย่างโดดเด่น

ขณะที่ปี 68 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ขยายตัวที่ 3% เพราะคาดว่า รัฐจะมีมาตรการเงินดิจิทัลเฟส 2 ภาครัฐเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย ทำให้ประชาชน และธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ฯลฯ

“ประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดดเด่นตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 และหากตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดจน มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 3.5%”นายธนวรรธน์กล่าว