
(วันนี้ 31 มี.ค. 68) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อประเมินผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และร่วมกันกำหนดแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ในการประชุม มีผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ, นายจักรพรรดิ์ คล่องพยาบาล ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ, นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีฯ, นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงฯ, นายมงคล วิมลรัตน์ อธิบดีกรมพลศึกษา, นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว, พลตำรวจโทศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว, นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนหน่วยงานจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT), สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.), สมาคมสายการบินประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)



รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนเพื่อเร่งกำหนดมาตรการรองรับและแก้ไขผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาคเอกชนเสนอให้มี “ผู้สั่งการคนเดียว” (Single Command) เพื่อให้การสื่อสารทั้งในและต่างประเทศมีความชัดเจนและเชื่อถือได้ พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานรัฐออกใบรับรองความปลอดภัยของโรงแรมที่ผ่านการตรวจสอบโครงสร้างแล้ว รวมถึงการสื่อสารเชิงรุกว่าพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทยยังคงปลอดภัยและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวตามปกติ
นายสรวงศ์ เน้นย้ำว่า กระทรวงฯ จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเพื่อนำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน “Thailand Tourist Police Application (TPB)” ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันดูแลและรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ โดยจะบูรณาการความร่วมมือทั้งตำรวจภูธร นครบาล และตำรวจท่องเที่ยว ตลอดถึงการนำนวัตกรรมด้านความปลอดภัย เช่น กล้อง CCTV เข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน”

ตลาดนักท่องเที่ยวที่อ่อนไหว ทางภาครัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร?
นายสรวงศ์มีการพูดถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ซึ่งตัวเลขที่ได้รับผลกระทบที่สุด คือ จีน แต่ทาง รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้มีการหารือกับทางท่านทูตจีน ส่วนทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีการหารือกับทางท่านทูตจีนด้วยว่า จะทำอย่างไรต่อไป ก่อนเกิดเหตุได้มีการพูดคุยกับกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ของจีน ได้มีการให้ช่วยประชาสัมพันธ์ ว่า 77 จังหวัดในประเทศไทย จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีแค่กรุงเทพมหานคร บางจังหวัดมีความเสียหายเล็กน้อย กระทรวงฯ จะรีบประกาศจังหวัด ที่ต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด
โดยทางภาคเอกชน ได้เรียกร้องมาอีกอย่าง คือ การยกเลิกการประกาศ ภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษ State of emergency ก็ค่อนข้างที่จะรุนแรง และกระทบไปถึงภาคของการท่องเที่ยว รวมไปถึงทัวร์ประกันภัย
ย้ำว่า เทศกาลสงกรานต์ยังเหมือนเดิม มีกิจกรรมเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา ได้มีการให้ทางตำรวจท่องเที่ยว ประสานไปทางตำรวจภูธรตำรวจนครบาล ทั่วประเทศ ในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย วอนคนไทยขอให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นเจ้าภาพที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เพื่อที่จะเรียกความเชื่อมั่น ในเรื่องของการปลอดภัยให้กับการท่องเที่ยวไทย











