กรณีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นชอบตามที่กระทรวงดีอีจะนำเสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
โดยสาระสำคัญมีการแก้ไขให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือสื่อสังคมออนไลน์ (แพลตฟอร์ม) มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหาย หลังจากเหยื่อถูกมิจฉาชีพหลอก
วันนี้ (5 ก.พ.68) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเรื่อง ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง โดยในส่วนเกณฑ์การรับผิดชอบจะออกชัดเจนได้อย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล
เบื้องต้นคาดว่าเดือน ก.พ.-มี.ค.68 จะได้ข้อสรุปร่วมกัน และคาดว่าจะทันช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ได้ในเดือนก.พ.68
”สำหรับแบบแผนจะคล้ายกับประเทศสิงคโปร์หรือไม่นั้น ต้องดูรายละเอียด เนื่องจากกลไกบางอย่างไม่ได้เหมือนทีเดียว แต่หลายอย่างก็เหมือนกัน“นายผยงกล่าว
นายผยงกล่าวว่า สำหรับมาตรการปิดปากม้า ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มุ่งแก้ปัญหาบัญชีม้า ในส่วนของธนาคารมองว่าเป็นมาตรการสร้างผลดี ช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรรมทางออนไลน์
ในส่วนของระบบธนาคารมีการลงทุน และใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ เพื่อพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลในภาคธนาคาร (center fraud registry) และเรื่องการผลักดันให้เกิดกลไกลต่างๆ ตั้งแต้ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
หากดูตั้งแต่ต้นน้ำ คือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ (โทรคมนาคม) ที่พิจารณาซิมการ์ด ไปจนถึงปลายน้ำในเรื่องของเงินออกก็คือคลิปโตเคอร์เรนซี รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการ E-Wallet ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ขณะนี้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ดังนั้น ถ้าองคาพยพถูกดึงเข้าด้วยกัน ในเรื่องการปะทะกับอาชญากรรมไซเบอร์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องความรับผิดชอบร่วมกันก็ต้องเข้าร่วมให้ครบทุกหน่วยงาน
“สิ่งที่เราอยากเห็นอยากให้ครบทุกกลไก เพราะระบบภาคธนาคารตอนนี้เป็นระบบตรงกลางที่เหมือนกับแซนด์วิชที่รับเข้ามาจากต้นน้ำ และระงับการออกไปที่ปลายน้ำ”นายผยงกล่าว
ขณะเดียวกัน การที่เงินออกไปที่ปลายน้ำก็ต้องสามารถระงับได้ ส่วนต้นน้ำก็ต้องมีด่านสกัดบ้าง ก็หวังว่าเป็นจุดที่จะมีกลไกรับผิดชอบเหล่านี้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม การรับผิดชอบก็ใช้กลไกปกติที่ธนาคารดูอยู่แล้ว และได้ลงทุนไปกับการทำระบบมาก โดยมีทั้งข้อจำกัดทางกฎหมาย การดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งธนาคารยกระดับแน่นอนและทยอยเข้มข้น ล่าสุดได้ปิดบัญชีม้าไปแล้ว 1.8 ล้านบัญชี
นอกจากนี้ ก็จะต้องปิดปากม้าด้วยไม่ให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีม้า แต่ต้องย้ำว่าบัญชีม้าเกิดขึ้นทุกวันและไม่อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นการที่ธนาคารจะรู้เท่าทันต้องเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องไม่ใช่เป็นระยะสั้น (วันช็อต) ดังนั้น ทุกองค์การพยพในระบบนิเวศนี้ต้องมีการยกระดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารอยากเห็น
ทั้งนี้ สำหรับคนที่ถูกปิดบัญชี เนื่องจากต้องสงสัยเป็นบัญชีม้า หรือมีการดำเนินคดีเป็นบัญชีม้าไปแล้ว และต้องการใช้บัญชีธนาคาร บุลคลนั้นต้องไปทำการแสดงตัวตน เพื่อยืนยันตัวตนและพิสูจน์ตัวตนที่เข้มข้นมากขึ้น
“ต้องยอมรับว่าการเป็นบัญชีมาและการป้องกันจะเกิดความไม่สะดวกในระบบ ซึ่งก็เป็นสถานะที่ธนาคารต้องสู้กับองค์กรอาชญากรรมบัญชีม้า”นายผยงกล่าว