นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ชี้แจงที่รัฐสภาเรื่องการแก้ไขปัญหาทุเรียนจีนขอใบ test report สาร Basic Yellow2 ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดในวันนี้ได้รับรายงานจากนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มีหนังสือถึง สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ GACC แจ้งรายชื่อห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับความสามารถในการทดสอบสาร Basic Yellow 2 (BY2) ในทุเรียนผลสดส่งออกจากไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
- บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาเชียงใหม่
- บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสงขลา
- บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขากรุงเทพฯ
- บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา
- บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสมุทรสาคร
- บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMARC)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการทั้ง 6 แห่ง ดังกล่าว พร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow2 และแคดเมียม ได้ภายในวันที่ 17 มกราคม 2568 นี้ และมีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์รวมกันได้ 700 ตัวอย่าง/วัน โดยการตรวจวิเคราะห์จะใช้ระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง คาดว่าไทยจะส่งออกทุเรียนพร้อมมีเอกสารแนบผลวิเคราะห์ (test report) สาร Basic Yellow2 และแคดเมียมได้ในวันที่ 20 มกราคมนี้
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีห้องปฏิบัติการ พร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow2 และแคดเมียม เพิ่มอีก 4 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพในการให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow2 และแคดเมียม รวมกันได้เพิ่มอีก 600 ตัวอย่าง/วัน จึงสามารถรองรับตัวอย่างการตรวจวิเคราะห์ทุเรียนรวมกันได้กว่า 1,300 ตัวอย่าง/วัน สามารถรับมือกับการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกและภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ด้านนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าววว่า กรมวิชาการเกษตร ได้กำหนดมาตรการ 4 ไม่ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนไทย ในปี 2568 ได้แก่
1.ไม่อ่อน – 2.ไม่หนอน – 3.ไม่สวมสิทธิ์ – 4.ไม่มีสี ไม่มีสารเคมีต้องห้าม
โดยมีเป้าหมาย “Set Zero” การใช้สี การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด ซึ่งหากสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร มีการตรวจพบสาร BY2 และสารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) และหากสารวัตรเกษตร และสารวัตร GMP ตรวจพบแล้วไม่ดำเนินคดีก็ต้องจัดการเช่นเดียวกัน ซึ่งได้ย้ำเตือนให้รองอธิบดีที่กำกับดูแล และผู้อำนวยการเขตต่างๆ หากพบผู้ปฏิบัติงานมีพฤติกรรมเห็นแล้วไม่เตือน หรือไม่ดำเนินคดี ในฐานะอธิบดีกรมวิชาการเกษตรก็จะดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกัน