ธปท.รับลูก พ.ร.ก.ไซเบอร์ เร่งกำหนดเกณฑ์ “แบงก์” รับผิดชอบเหยื่อมิจฯ

“แบงก์ชาติ” รับลูก พ.ร.ก.ไซเบอร์ เร่งกำหนด ‘ความรับผิดชอบ-จ่ายชดเชย’ ของแบงก์ กรณีที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดีอีจะนำเสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีเหตุผลความเร่งด่วนตามการชี้แจง ในที่ประชุม ครม. ดังนี้

รัฐบาลพบว่าประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60 – 70 ล้านบาท (ก่อนการดำเนินการมาตรการต่างๆ ของ ดศ. ภายใต้ รนรม. ประเสริฐ อยู่ที่ 100 – 120 ล้านบาทต่อวัน) จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ปัญหานี้

พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ.2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่ และการกำหนดโทษ หลายๆ ประเด็นโดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P, อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน, และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีสาระสำคัญ ในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ.2566 ดังนี้

  1. เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
  2. เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
  3. เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่างๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบ และคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
  4. เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย
  5. เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  6. เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุม ครม. วันที่ 28 มกราคม 2568 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นั้น

ธปท. สนับสนุนหลักการของร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นเพื่อปรับร่าง พ.ร.ก. ให้สามารถนำมาใช้ในการยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ซึ่งรวมถึงการกำหนดกลไกที่ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นหากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งเป็นทิศทางนโยบายที่ ธปท. ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาต่อเนื่อง

โดยในส่วนของ ธปท. จะมีการประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่สถาบันการเงินพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป