CIMBT ลั่นรัฐบาล ใช้นโยบาย “แจกเงิน” ไม่ใช่คำตอบข้อเดียว

สาหัส! “อมรเทพ” คาด ”ทรัมป์“ ฉุดจีดีพีไทยเหลือ 1.8% ชี้เลื่อนเก็บภาษีไทย ช่วยยืดเวลาคุยแผนได้ 90 วัน แนะ “รัฐบาล” ใช้นโยบาย “แจกเงิน” ไม่ใช่คำตอบของเศรษฐกิจ ลั่นอยากเห็นมาตรการ หนุนคุณภาพระยะยาว

วันนี้ (10 เม.ย.68) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในหัวข้อ Trade War: Global Cost, Local Risks – มหาสงครามการค้า ‘เกมแพงของโลก เดิมพันเศรษฐกิจไทย’

ดร.อมรเทพกล่าวว่า คืนวันที่ 9 เม.ย.68 ตามเวลาประเทศสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ประเทศต่างๆ ออกไป 90 วัน ส่วนจีนโดนภาษีที่ 125% เนื่องจากจีนตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 84%

สำหรับประเทศไทย ที่แม้จะโดนเลื่อนเก็บภาษีนำเข้า 36% ออกไปก่อน เหลือการจัดเก็บเพียง 10% เท่ากับประเทศอื่นส่วนใหญ่ แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าสหรัฐ ความไม่แน่นอน และความตึงเครียดที่ยืดเยื้อ 

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2568 จาก 2.7% ลงเหลือ 1.8% กรณีที่สหรัฐฯ เก็บภาษีไทย 10%

อย่างไรก็ดี บนความไม่แน่นอน หากมีการจัดเก็บภาษีสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 3-4/2568 และโตเพียง 1.4% แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแม้เพียงเล็กน้อย และความผันผวนทั่วโลก เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงหนักกว่าคาด

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำลงคือ 1.การลงทุนจากต่างประเทศน้อยลง 2.คนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย เช่น ยอดเติบโตรถยนต์หรือบ้านจำนวนน้อยลง 3.การส่งออก ต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป

ดร.อมรเทพกล่าวว่า สำหรับรัฐบาลต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องดูที่คุณภาพของมาตรการ เรื่องของเม็ดเงินก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เรื่องการแจกเงินจะจำเป็นต่อกำลังซื้อระดับล่าง หรือกลุ่มเปราะบางแต่ที่ผ่านมาสะท้อนว่าเม็ดเงินไม่ได้สะพัดหรือการใช้จ่ายอย่างที่คาดการณ์

ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นคือคุณภาพของเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปจะสร้างความมั่นใจ หรือเกิดการลงทุนในระยะยาว เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือมาตรการช่วยเหลือเรื่องชุมชน ภาคเกษตรกรรม หรือการสร้างอาชีพ ถ้ามีภาพแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยระยะยาว

“เศรษฐกิจไทยเห็นภาพความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้น แล้วกลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายได้ระดับล่างได้รับผลกระทบมาก จะหามาตรการมาดูแล แต่การแจกเงินไม่ใช่คำตอบอย่างเดียว ควรหามาตรการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อกระจายรายได้“ดร.อมรเทพกล่าว

ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องภาษีทรัมป์ รัฐบาลควรมีทีมที่ดูเรื่องการเจรจาเป็นหลัก แม้ไทยจะยังรอเรื่องเจรจา แต่เราควรตั้งหลัก และมีไทม์ไลน์ที่ต้องทำใน 90 วัน ซึ่งข้อดีคือไทยไม่ได้ตอบโต้สหรัฐฯ แต่โจทย์คือไทยจะเจรจาอย่างไรเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ให้ได้

นอกจากนี้ มาตรการภาษีทรัมป์จะทำการค้าโลกชะลอ การส่งออกอาจโตเพียง 1.4% การผลิต-การนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรลดลง การลงทุนชะลอตัว รายได้แรงงานและนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มอ่อนตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบาง ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณท์ อาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น

แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่บนทางแยก มี 2 แนวโน้มที่เป็นไปได้ในอนาคต

แนวโน้มที่ 1 : เศรษฐกิจโตช้า (Slow Growth) จีดีพีสหรัฐฯ ลดลงจาก 2.1% มาอยู่ที่ 1.4% ชาวอเมริกันบริโภคน้อยลง เก็บออมมากขึ้น เลื่อนการลงทุนใหม่ เงินเฟ้อพุ่งจาก 3% ไปที่ 3.7% ด้านดอกเบี้ย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ หรือ ลดดอกเบี้ยครั้งเดียวช่วงไตรมาส 4/2568 ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินกลุ่ม G7 แต่แข็งค่าไม่มากเทียบตลาดเกิดใหม่ แนวโน้มนี้มีความน่าจะเป็น 80%

แนวโน้มที่ 2 : เศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย (Mild Recession) จีดีพีสหรัฐฯ หดตัว -0.2% จากผลกระทบของ reciprocal tariff ความไม่แน่นอนทางนโยบาย และการตอบโต้ ด้านภาคครัวเรือนชั้นกลางถึงรายได้สูง อาจลดการใช้จ่ายลง เงินเฟ้ออยู่ราวๆ 5% ในปี 2568 

ซึ่งเฟดอาจกลับมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรืออย่างน้อยก็จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมไปถึงปี 2569 เงินดอลลาร์จะแข็งค่าอย่างมากและถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงวิกฤต การลดการพึ่งพาโลกาภิวัตน์อาจทำให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก กระทบต่อจีดีพีในระยะยาว แนวโน้มนี้มีความน่าจะเป็น 20%

คู่มืออยู่รอดในยุคความผันผวนทรัมป์

การลงทุน – เน้นเชิงรับ รักษาเงินต้น เช่นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือดีในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่ำ เพิ่มเงินสดสำรอง กระจายลงทุนข้ามภูมิภาค

การบริโภค – ใช้จ่ายอย่างมีสติ เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน เลี่ยงการกู้เกินจำเป็น

SMEs – วางแผนระยะสั้น คุมต้นทุน ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์

ธุรกิจขนาดใหญ่ – ป้องกันความเสี่ยง ใช้ซัพพลายเชนในประเทศ ขยายสู่ตลาดอาเซียน

“โดยสรุป หลักการสำคัญคือ รักษาสภาพคล่องให้ดี ดูแลควบคุมต้นทุน ลดความเสี่ยง และไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็นครับ” ดร.อมรเทพ กล่าว