![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738920716_653783-ejan-768x402.jpg)
วันนี้ (7 ก.พ.68) ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ. ได้มีการบอกเลิกสัญญาผู้กู้ยืมเนื่องจากไม่ชำระเงินคืนตามสัญญา และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดี ประมาณ 31,000 ราย จำนวนทุนทรัพย์กว่า 2,800 ล้านบาท
จึงขอแนะนำให้ผู้กู้ยืมมาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี โดยชำระเงินงวดสุดท้ายได้ถึงอายุ 65 ปี และเมื่อผู้กู้ยืมชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น กยศ. จะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100%
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738919195_288667-ejan.png)
ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้กู้ยืมสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน และไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับคดี แต่หากผู้กู้ยืมยังเพิกเฉย กยศ. มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีและสืบทรัพย์บังคับคดีต่อไป
นอกจากนี้ กยศ. ยังตรวจพบว่ามีกลุ่มผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้ โดยเป็นผู้มีเงินฝากหรือมีรายได้สูงประมาณ 400,000 ราย
หากผู้กู้ยืมกลุ่มนี้ไม่ติดต่อชำระหนี้หรือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ก็จะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีและสืบทรัพย์บังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
![](https://files.ejan.co/wp-content/uploads/2025/02/1738919219_457604-ejan-1024x576.png)
“กยศ. มีความจำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีและสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมายกับผู้กู้ยืมที่ไม่ชำระหนี้และไม่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐได้รับความเสียหาย”ดร.นันทวัน กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับผู้ขาดแคลนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยผู้กู้ยืมทุกรายมีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนเพื่อให้เงินทุกบาทตกทอดแก่นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไปที่ยังรอโอกาสอีกจำนวนมาก