
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า หากข้าราชการสมาชิก กบข.ต้องการเกษียณอย่างมีความสุข หรือมีเงินใช้อย่างเพียงพอ หลังพ้นจากชีวิตข้าราชการไปแล้ว ควรเพิ่มเติมการออมตั้งแต่วันแรก ที่เข้ารับราชการ เพราะตลอดระยะเวลา 30 ปีที่รับราชการ การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกๆ ปี ทำให้สมาชิก กบข. ถึง 82% จากทั้งหมด 1.2 ล้านคน ไม่สามารถมีเงินออมอยู่ภาวะที่ดีได้

ทั้งนี้ กบข.ได้แบ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนของสมาชิกวัยเกษียณ ออกเป็น 3 ระดับคือ 1.พื้นฐานทั่วไป หลังเกษียณควรมีเงินออม 6.22 ล้านบาท มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือน 26,142 บาท 2.ระดับที่ดี ควรเงินออมประมาณ 8.63 ล้านบาท มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือน 36,288 บาท และ3.ระดับที่ดีมาก ควรมีเงินออม 13.85 ล้านบาท จะมีเงินใช้จ่ายเดือนละ 58,247 บาท
“การประมาณเงินออมของ กบข.ตั้งอยู่สมติฐานที่คนไทยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น โดยคาดว่า คนไทยมีอายุขัย เฉลี่ย 80.9 ปี หากแยกตามเพศแล้ว พบว่า ผู้ชายอายุเฉลี่ย 77.4 ปี ผู้หญิง 83.1 ปี การที่มีอายุยืนยาวมากขึ้น ก็ควรมีเงินออมมากขึ้น เพื่อเตรียมเอาใช้จ่ายหลังเกษียณ”
สำหรับสาเหตุที่ สมาชิกมีโอกาสไม่บรรลุเป้าหมายความเพียงพอหลังเกษียณ สาเหตุหลักๆ มากจาก 1.ภาระหนี้สินสมาชิก กบข.อายุ 55-60 ปี ยังมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 1.96 ล้านบาท 2.ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองหลัง เกษียณ เพราะอาศัยบ้านพักข้าราชการ 3.ค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ เพิ่มขึ้นทุกๆ ต่อปี และ 4.มีเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงิน
นายทรงพล กล่าวว่า ในปีนี้ กบข.ตั้งเป้าที่จะให้สมาชิก ปรับแผนการลงทุนจากเดิม ที่สมาชิกจะลงทุนตามแผนหลัก (แบบเดิม) เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ หรือลงทุนด้วยการฝากเงินกับสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 82% ของจำนวนสมาชิก 1.25 ล้านคน ปรับแผนการลงทุนเป็น สมดุลตามอายุภาย ใน 20 ปี ซึ่งในแผนดังกล่าว สมาชิกจะสามารถเลือกการลงทุนได้ด้วยตนเอง ตามอายุและตามความต้องการ เช่น การเพิ่มหรือลดน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้น การลงทุนในแผนทองคำ หรือจะเลือกลงทุนในตราสารหรือฝากเงินกับสถาบันการเงินในช่วงอายุที่ใกล้เกษียณ เป็นต้น นอกจากนี้ สมาชิก กบข.ยังสามารเพิ่มระดับการออมเงินในแต่ละเดือนได้อีกด้วย
สำหรับผลดำเนินการของกบข. ณ สิ้นปี 2567 มีขนาดกองทุนเพิ่มขึ้น 106,000 ล้านบาท รวมมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (รวมเงินสำรอง) อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่ 1.28 ล้านล้านบาท และภายในสิ้นปี 2569 กบข.ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ให้ถึงระดับ 1.6 ล้านล้านบาท
“ที่ผ่านมา กบข.ได้สร้างทางเลือกให้กับสมาชิก สามารถกำหนดแผนการลงทุน และปรับแผนการลงทุนได้ถึง 12 ครั้งใน 1 ปี ทำให้สมาชิกบางราย ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยตอบแทนตามแผนสมดุลตามอายุ ได้ 8.93% แผนทองคำ 24.67% แผนหลัก 3.73% ทำให้ กบข.ดำเนินงานได้ตามเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวชนะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลังบวก 2%”
นอกจากนี้ แผนสมดุลตามอายุ สมาชิกที่มีอายุน้อยกว่า 51 ปี ได้ผลตอบแทน 8.93% สมาชิกอายุ 55 ปี ได้ผลตอบแทน 6.41% และสมาชิกอายุมากกว่า 59 ปี ได้ผลตอบแทน 4.43% ซึ่งทั้งหมดได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าแผนหลักเดิมที่ 3.73% ส่งผลให้ปี2567 อัตราผลแทนรวมอยู่ที่ 4.12%
สำหรับปี 2568 กบข. ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวที่ 2.10% ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดว่า จะขยายตัวในช่วง 2.4-2.8% จากแนวโน้มดังกล่าว กบข. มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์กลุ่มเติบโต (Growth Assets) โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นตลาดพัฒนาแล้ว พร้อมกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวน
ขณะเดียวกัน ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ โดยปีที่แล้ว มีสมาชิกเลือกลงทุนในทองคำประมาณ 2,000 ล้านบาท และคาดว่า ปีนี้ ยังมีการเลือกลงทุนในทองคำ แต่คงต้องระมัดระวังเนื่องจากราคาทองคำสูงขึ้นและทุบสถิติใหม่ โดยในปีนี้ กบข.คาดว่า อัตราผลตอบแทนจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนมากขึ้น ทั้งในเรื่องของสงครามการค้า และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงภาวะเศรษกิจโลกและเศรษฐกิจไทย