
(วันนี้ 29 เม.ย.68) บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน ทุ่มงบลงทุนกว่า 100 ล้าน เปิดตัว FTEC (Food Technology Exchange Center) ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร เพื่อเสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก โดยศูนย์วิจัยนี้ตั้งอยู่ที่อาคารฟู้ด เทคโนโลยี ธาราพาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี
- แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์วิจัย “FTEC”
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เผยถึงแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์วิจัยนี้ขึ้นมา ว่า “การเกิดความร่วมมืออย่างไร้พรมแดนได้นั้น ต้องมีศูนย์กลางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิจัย นักพัฒนา และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้บูรณาการศาสตร์ต่างๆ กับเทคโนโลยี เพื่อระดมความคิด ซึ่งนักวิจัยก็จะได้โจทย์จริงไปทำวิจัยและพัฒนา ส่วนนักธุรกิจและผู้ประกอบการ ก็ได้นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ และเอกชน มาช่วยแก้โจทย์และพัฒนานวัตกรรมอาหาร ผ่านโครงการวิจัย

ในส่วนของ “ซีพีแรม” จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ทั้งทุกฝ่ายมาเจอกัน การจัดทำห้องปฏิบัติการ บุคลากร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อที่จะได้ทดลองและขยายการผลิตอาหารในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ยกระดับการขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ
ทั้งนี้ FTEC (Food Technology Exchange Center) ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร จะเป็นส่วนสำคัญในเพิ่มขีดความสามารถในอุตสาหกรรมอาหารของไทย
โดยในเฟสแรก “FTEC” จะขับเคลื่อนศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหารด้วยเทคโนโลยี Biotech ด้วยจุดแข็งของพันธมิตร ซึ่งมีคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร (SMAFT) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และบริษัท ซีพี ฟู้ดเเล็บ จำกัด ที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยในเฟสต่อๆไปจะขยายผลไปสู่เทคโนโลยี Robotech และเทคโนโลยี Digitech

ในส่วนของภาคการศึกษา ดร.เดโช ปลื้มใจ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร (SMAFT) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ทาง “ซีพีแรม” ได้ร่วมจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และจัดการอาหาร ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรยกระดับคุณภาพการเรียน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไปจนถึงการฝึกงาน และมอบทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรให้กับนักศึกษาทุกคน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้ ทักษะมาตรฐานขั้นสูง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร พัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมถึงบริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด ก็ได้ร่วมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ รวมถึงสนับสนุนงานด้านการวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรม รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ซีพีแรม” ทุ่มงบ 100 ล้าน สร้างศูนย์ FTEC
ด้านนายณัฐสิทธิ์ อึ๊งภากรณ์ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้กำกับดูแล FTEC (Food Technology Exchange Center) กล่าวว่า ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเกิดได้จากทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ภายในห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงหน่วยงานภายนอก เพียงแค่มีการคิดและร่วมมือกันทำ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ขยายความร่วมมือทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง โดยรูปธรรมความร่วมมือนี้คือ การจัดตั้งศูนย์ FTEC (Food Technology Exchange Center) ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อาคาร ฟู้ด เทคโนโลยี ธาราพาร์ค โดย FTEC จะมีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี
นายพิภักดิ์ จรูญลักษณ์คนา รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้กำกับดูแล ครัวกลาง (Central Kitchen) กล่าวว่า ตลาดอาหารพร้อมรับประทานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีคาดว่าในปี 2568 ปริมาณการจำหน่ายอาหารพร้อมทานในประเทศจะขยายตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Ready-to-Eat & Grab-and-Go ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ซีพีแรมจึงมุ่งพัฒนา อาหารพร้อมรับประทานและเบเกอรี่ที่มีคุณภาพสูง และคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เพื่อขยาย ส่วนแบ่งตลาดและเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน พัฒนาอาหารท้องถิ่นสู่ตลาดแมส นอกจากการพัฒนาอาหารแมสเพื่อตอบโจทย์ตลาดหลัก ซีพีแรมยังให้ความสำคัญกับอาหารท้องถิ่น โดยนำอาหาร จากภูมิภาคต่างๆ เช่น ใบเหลียงผัดไข่ ข้าวซอยไก่ ก๋วยจั๊บญวนมาสู่ตลาดแมส ด้วยการพัฒนาตาม อินไซต์ของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ ผ่านเครือข่ายนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อรักษามาตรฐานรสชาติให้สม่ำเสมอทุกภูมิภาค การขยายขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอาหาร พร้อมรับมือพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ซีพีแรมมุ่งสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ด้วยทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 200 คน ทำให้สามารถนำเสนออาหารใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและหลากหลาย สู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

ดร.พัชรี กิตติสุบรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ฟู้ดเเล็บ จำกัด กล่าวว่า ซีพี ฟู้ดแล็บ เป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยเพื่อรองรับการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางประสานงาน ความร่วมมือด้านวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน รวมถึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาทางด้านอาหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทางด้านต่างๆ ได้แก่ เหมาะสมทางอายุ อาชีพ หรือเหมาะสำหรับผู้ป่วย ด้านต่างๆ ที่ต้องการโภชนาการเฉพาะเจาะจง รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพในทางที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น อาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ซีพี ฟู้ดแล็บ มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน FTEC ศูนย์ความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร เพื่อร่วมยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรมทางด้านอาหารสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร



นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า ซีพีแรม ดำเนินธุรกิจภายใต้ปณิธาน FOOD 3S เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารของไทยอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ Food Safety (ความปลอดภัยทางอาหาร), Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) และ Food Sustainability (ความยั่งยืนทางอาหาร) ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีพีแรมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน ซีพีแรมยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกระดับ และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก



















