
(วันนี้ 18 เม.ย.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกรมการค้าภายในและสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) ว่า กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการตลาด การลดต้นทุน และการรักษาเสถียรภาพราคา โดยเน้นพืชสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้

โดยเฉพาะ ข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อช่วยดึงราคาข้าวเปลือก ได้แก่ การช่วยเหลือข้าวนาปรัง ในการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกมีการจัดในหลายจังหวัด ได้แก่ จุดรับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี และเชียงราย เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายและสร้างรายได้ที่เหมาะสมแก่เกษตรกร พร้อมจัดตลาดนัดข้าวเปลือกทั้งนาปรังและนาปี (ที่หมดฤดูกาลแล้ว) โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 6,800 ราย ซึ่ง แบ่งเป็น ตลาดนัดข้าวเปลือกนาปรัง ใน 9 จังหวัด รวม 21 ครั้ง มีการซื้อขายในราคาสูงกว่าตลาด 100–200 บาท/ตัน รวมปริมาณซื้อขายกว่า 14,000 ตัน มูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวนาปรังที่ผ่าน นบข.มาแล้ว อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
ขณะที่ข้าวนาปีที่หมดฤดูกาลแล้ว กระทรวงฯ ได้จัดตลาดนัดข้าวแล้วใน 24 จังหวัด จำนวน 32 ครั้ง มียอดซื้อขายกว่า 422,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 254 ล้านบาท พร้อมดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขาย โดยให้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาท/ตัน แก่ชาวนาที่มียุ้งฉาง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 324,000 ราย รวมปริมาณข้าวที่รับฝากกว่า 2.5ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3.5% จากอัตรา 4.5% เพื่อสนับสนุนสหกรณ์ที่รวบรวมข้าวไว้ในระบบ ซึ่งขณะนี้มีการรวบรวมผลผลิตแล้วกว่า 580,000 ตัน และมีการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เก็บสต็อกข้าวรวมสูงสุดกว่า 2.2 ล้านตัน สำหรับการสนับสนุนข้าวนาปีโดยตรง รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 36,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมมาตรการลดต้นทุนการผลิตในฤดูถัดไป โดยเฉพาะการลดราคาปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช
นายพิชัย กล่าวเพิ่มอีกว่า ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้มาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงินสินเชื่อ 143 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินสินเชื่อ 0.23 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษี 0% และการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต่อการรับซื้อโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน
และมันสำปะหลัง มีการดำเนินการ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังกว่า 720,000 ครัวเรือน โดยมาตรการเชื่อมโยงเปิดจุดรับซื้อได้เปิดจุดรับซื้อ 34 จุดใน 8 จังหวัด เพิ่มการใช้มันเส้นและกากมันภายในประเทศ 2.5 ล้านตันหัวมันสด (1 ล้านตันมันเส้น) และชดเชยดอกเบี้ย 3% สำหรับการเก็บสต็อกระยะ 2-6เดือน รวมถึงส่งเสริมสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเพียง 4.5%
ด้านสถานการณ์ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูกาลผลผลิต กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2568รวม 7 มาตรการหลัก เช่น การตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจาการค้ากับจีน การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต การรณรงค์บริโภคภายในประเทศผ่านห้างค้าปลีก ห้างท้องถิ่น รถโมบาย รวมถึงสถานีโทรทัศน์ การสนับสนุนค่าบริหารจัดการผลไม้เพื่อการส่งออก การส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสร้างอัตลักษณ์ GI และการเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าระหว่างผู้ซื้อกับกลุ่มเกษตรกร ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถรองรับผลผลิตทุเรียนได้รวมกว่า 470,000 ตัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังเร่งติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเตรียมการพบปะหารือกับเอกอัครราชทูตจีนในเร็วๆ นี้ เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก พร้อมกันนี้ยังได้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์และศักยภาพในการส่งออกทุเรียนไทย