กวาดหมด! สอบสวนกลาง บุกทลาย “แก๊งฟอกเงินมังกรเทา” ถอนเงินตุ๋นเหยื่อกว่า 2,900 ล้านบาท

ตำรวจสอบสวนกลาง แถลงจับกุม “แก๊งฟอกเงินมังกรเทา” พบถอนเงินสดจากการหลอกเหยื่อกว่า 2,900 ล้านบาท และตรวจยึดทรัพย์สินอีกจำนวนมาก

วันนี้ (18 ก.พ.68) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ร่วมแถลงข่าวการจับกุมแก๊งฟอกเงินมังกรเทา หลังพบว่าถอนเงินสดจากการหลอกเหยื่อกว่า 2,900 ล้านบาท

สืบเนื่องจาก ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ได้มีผู้เสียหายซึ่งต้องการหางานทำเพื่อหารายได้พิเศษ ได้พบโพสต์ประกาศหางานในสื่อโซเชียลมีเดีย ประกาศว่าเป็นการทำงานพิเศษเสริมรายได้ โดยเป็นการรับสินค้าไปแพ็กที่บ้าน ต่อมาผู้เสียหายเกิดความสนใจจึงได้ติดต่อพูดคุย โดยในช่วงแรกคนร้ายได้ชักชวนให้ทำงานพิเศษในรูปแบบออนไลน์ โดยเป็นงานกดไลค์ กดเพิ่มยอดติดตามต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายได้ทดลองทำงานดังกล่าวปรากฎว่าได้รับเงินจากการทำงานจริงเป็นจำนวนหลายครั้ง จากนั้นคนร้ายจึงเริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายทำกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ โดยกิจกรรมดังกล่าวผู้เสียหายจะต้องนำเงินมาลงทุนก่อน จากนั้นจึงจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานตามเงินลงทุนที่ลงทุนไป โดยมีผลตอบแทนประมาณ 30%-50%

ภายหลังผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้นำเงินไปร่วมลงทุน โดยในช่วงแรกมีการให้ผลตอบแทนในการลงทุนจริง จากนั้นคนร้ายได้มีการหลอกลวงให้ผู้เสียหายนำเงินไปลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งภายหลังผู้เสียหายไม่สามารถถอนเงินออกมาจากระบบได้ โดยคนร้ายให้เหตุผลว่าเป็นความผิดของผู้เสียหาย อ้างว่าไม่ทำตามขั้นตอนที่กำหนด ภายหลังผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกหลอกลวง จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย  

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. จึงได้ดำเนินการสืบสวน พบว่าขบวนการดังกล่าว มีผู้ร่วมขบวนการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารต่าง ๆ ก่อนจะแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดถอนออกจากบัญชี โดยจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกันอีกประมาณ 60 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องขอออกหมายจับต่อศาลอาญา โดยออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวน 32 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มบัญชีม้าคนไทย จำนวน 10 ราย , กลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ชาวจีน จำนวน 2 ราย , กลุ่มขบวนการที่มีการฟอกเงิน จำนวน 20 ราย (ชาวไทย 1 ราย , ชาวจีน 14 ราย , ชาวเกาหลี 5 ราย)

ต่อมาในวันที่ 11-14 ก.พ.2568  เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. จึงได้สนธิกำลัง เปิดปฏิบัติการ “ทลายแก๊งฟอกเงินมังกรเทา”  โดยเข้าตรวจค้นพื้นที่ทั้งหมด 20 จุด ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยแบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 7 จุด , เชียงใหม่ จำนวน 5 จุด , สมุทรปราการ จำนวน 3 จุด , สระแก้ว จำนวน 1 จุด , ปราจีนบุรี จำนวน 1 จุด , นครศรีธรรมราช จำนวน 1 จุด , สมุทรสาคร จำนวน 1 จุด และสมุทรสงคราม จำนวน 1 จุด

โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 10 ราย ได้แก่ สมาชิกแก๊งฟอกเงินให้กับแก๊งคอลฯ จำนวน 5 ราย  และเจ้าของบัญชีม้า จำนวน 5 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินต่าง ๆ รวม 210 รายการ อาทิ คอมพิวเตอร์ , โทรศัพท์มือถือ , สมุดบัญชี , เงินสด , โฉนดที่ดินบ้าน/คอนโด , นาฬิกาหรู และทรัพย์สินต่าง ๆ รวมมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย  

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าทำการตรวจค้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าแก๊งคอลเซนเตอร์ดังกล่าวได้ทำการฟอกเงินซื้อทรัพย์สิน และอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นบ้านหรู และคอนโดหรู รวมถึงทรัพย์สิน อาทิ นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับ มูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 440 ล้านบาท

เบื้องต้น ผู้ต้องหาลำดับที่ 1 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ให้การรับในข้อเท็จจริงว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2562 ตนเคยทำหน้าที่เป็นล่าม และไกด์พาเที่ยวให้กับชาวจีน ต่อมา พ.ศ.2566 ผู้ต้องหาได้รู้จักกับแฟนหนุ่มชาวจีนและได้ร่วมกันรับเหรียญดิจิทัลจากลูกค้ากลุ่มจีนเทาต่าง ๆ ที่ต้องการใช้เงินในประเทศไทย จากนั้นได้นำเหรียญดิจิทัลมาขายและนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยนำส่งให้กับกลุ่มจีนเทาตามคำสั่ง โดยจะได้ค่าบริการ 0.03% – 0.05% ของยอดเงิน

โดยขั้นตอนการทำงาน แฟนหนุ่มของผู้ต้องหาที่ 1 จะติดต่อกับกลุ่มจีนเทาต่างๆ จากนั้นผู้ต้องหาที่ 1 และคนในแก๊งจะรับเหรียญดิจิทัลมาจากลูกค้า แล้วนำมาขายในรูปแบบ p2p ผ่านแพลตฟอร์ม EXCHANGE  โดยผู้ต้องหาจะส่งเงินตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทา ซึ่งในกรณีถ้ายอดเงินมีจำนวนไม่มาก ผู้ต้องหาที่ 1 และแฟนหนุ่มชาวจีน จะใช้วิธีการโอนเงินผ่านบัญชีของตนเองไปให้กับลูกค้า แต่หากในกรณีเงินที่ต้องส่งให้กับลูกค้าจำนวนมาก ผู้ต้องหาที่ 1 จะเบิกเงินสดแล้วนำไปส่งมอบให้กับลูกค้าตามที่นัดหมาย หรือนำเงินฝากเข้าบัญชีต่าง ๆ เนื่องจากกลุ่มจีนเทามีความต้องการเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปใช้จ่ายในประเทศไทย

จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า มีการรับเงินดิจิทัลสกุล USDT จำนวนประมาณ 187 ล้านเหรียญ USDT (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,500 ล้านบาท) รวมถึงมีการถอนเงินสดเป็นเงินไทยประมาณ 2,900 ล้านบาท และยังมีการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 

ในส่วนของผู้ต้องหาลำดับที่ 2-5 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาชาวจีน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่ามีส่วนร่วมกับผู้ต้องหาที่ 1 และกลุ่มคนจีนคนอื่นๆ ในการรับเหรียญดิจิทัลมาจากกลุ่มจีนเทามาเทขายเหรียญก่อนที่จะนำเงินสดไปส่งมอบให้กับลูกค้าชาวจีนตามจุดนัดหมายต่างๆ โดยกลุ่มคนจีนมีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีทั้งการถอนเงินสดที่สาขา การนำส่งเงินสดตามที่ลูกค้านัดหมายตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย  

นอกจากนี้ ยังพบว่าขบวนการนี้มีพฤติการณ์ในการก่อตั้งบริษัทที่ให้คนไทยมาเป็นนอมินี ในการจัดตั้งเพื่อมารับโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์จะเปลี่ยนกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนจีน ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม ในการตรวจยึดอสังหาริมทรัพย์และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

เบื้องต้นผู้ต้องหา ถูกแจ้งข้อหากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , สมคบโดยการตกลงตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน , ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันเป็นอั้งยี่”