ตำรวจบุกทลายแก๊งตุ๋น “วัยเกษียณ” สูญเงิน 200 ล้าน พบคนจีนอยู่เบื้องหลัง

ทำกันได้ลง! ตำรวจไซเบอร์บุกทลายแก๊งตุ๋น “วัยเกษียณ” สูญเงินกว่า 200 ล้านบาท สืบเจอตัวบงการใหญ่เป็น “คนจีน” แต่มีคนไทยร่วมด้วย!

วันนี้ (28 มิ.ย.67) พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) นำแถลงข่าวเปิดปฏิบัติการเดย์ฮันเตอร์ (DAY HUNTER) บุกค้น 6 เป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ทลายเครือข่ายมิจฉาชีพ อ้างเป็นคนดังหลอกผู้สูงอายุวัยเกษียณลงทุน หลังมีผู้สูงอายุกว่า 40 คน ร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ว่าถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันเพนฟอร์ด (PENFOLD) และแอปพลิเคชันไอบีทีเอ็ม (IBTM) รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

พล.ต.ท.วรวัฒน์กล่าวว่า โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.66 จนปัจจุบันสืบทราบถึงสถานที่ต้องสงสัยทำผิดกฎหมาย ซึ่งชุดจับกุมในครั้งนี้ได้ออกหมายจับ 66 หมายจับ จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 30 คน อย่างไรก็ตาม จากการสืบทราบตัวการใหญ่เป็นกลุ่มคนจีน อาทิ นายจาง และนายหลี่ เป็นตัวสั่งการ และมีคนถอนเงินคือนายเผิ่ง ซึ่งได้ร่วมกันเปิดบริษัท ไทยฮั้ว เปิดบังหน้าอยู่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ จับกุมคนไทยที่เป็นตัวหลักในการจัดหาคนไปทำงาน เพื่อหลอกลวงคนไทยด้วยกัน รวมถึงกลุ่มแอดมิน ผู้จัดหาบัญชีม้า รวมทั้งบัญชีม้า โดยผู้ต้องหาสำคัญคือ น.ส.ปานชีวัน อายุ 33 ปี และน.ส.ชานิภาอายุ 39 ปี ทั้ง 2 คนทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีม้า และจัดหาคนเข้ามาทำงานในองค์กร โดยวิธีประกาศรับสมัครผ่านเฟซบุ๊ค

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งประสานกับทางการจีน เพื่อร่วมการติดตามตัวนายทุนชาวจีนที่สั่งการอยู่เบื้องหลัง โดยควบคุมตัวผู้ต้องหาที่จับกุมได้ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, เป็นอั้งยี่, ร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวงโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันสมคบการฟอกเงิน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการได้ข้อหมายค้น เข้าตรวจค้นใน 6 จุดด้วยกัน บริเวณซอยพัฒนาการ และซอยนวลจันทร์ ได้ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 14 เครื่อง โทรศัพท์ 6 เครื่อง เอกสารรับสมัครงาน สมุดบัญชีธนาคาร เอกสารการเงิน เอกสารบทสนทนาที่เตรียมไว้สำหรับหลอกกลุ่มเป้าหมาย และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหลายรายการ

สำหรับพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุมักสร้างเฟซบุ๊กปลอม แอบอ้างผู้มีชื่อเสียงด้านการลงทุน ใช้วิธีแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มเฟซบุ๊กจริงที่เกี่ยวกับการลงทุน จากนั้นค้นหารายชื่อกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มข้าราชการเกษียณอายุ ก่อนติดต่อแนะนำหรือชักชวนให้กับกลุ่มเป้าหมายร่วมลงทุน โดยให้กลุ่มเป้าหมายติดตั้งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพได้สร้างขึ้นมาหลอกให้โอนเงินเพื่อเข้าร่วมลงทุนเป็นระยะ และให้โอนเงินลงทุนจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงิน กลุ่มผู้ก่อเหตุจะอ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินได้

เบื้องต้นผู้ต้องหาจับได้ 30 คน ให้ปากคำซัดทอดไปถึงนายทุนชาวจีนที่เป็นระดับผู้บริหารและผู้สั่งการจำนวน 2 คน ทราบว่าสั่งการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ตำรวจเร่งสืบสวนติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย ส่วนพฤติกรรมการหลอกลวงประเภทนี้เรียกว่า ไฮบริดสแกรม หลอกลวงกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมลงทุน โดยการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านสื่อออนไลน์ และสร้างโปรแกรมปลอมมาเป็นเครื่องมือหลอกโอนเงิน

“ปัจจุบันพบผู้เสียหายแจ้งความถูกหลอกในลักษณะนี้ถึง 60,000 คน มูลค่าความเสียหาย 22,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งขยายผลกวาดล้างให้ถึงที่สุด พร้อมเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนลงทุน เพื่อไม่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ”พล.ต.ท.วรวัฒน์กล่าว


คลิปอีจันแนะนำ

9 ปี ความยุติธรรมมีอยู่จริง ! ประหารชีวิตบรรยิน