ครม.อนุมัติ ให้เมียนมากู้เงิน จำนวน 1,458.248 ล้านบาท

ไทย-เมียนมา สัมพันธ์แน่น ! ครม.อนุมัติเงินกู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรน 1,458.248 ล้านบาท ให้ย่างกุ้ง เมียนมา ปรับปรุงระบบไฟฟ้า

หลังจากที่วานนี้ (14 ก.ค.63) ที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ซึ่งผลการประชุม จากเว็บไซต์ของรัฐบาล https://www.thaigov.go.th/main/contents

ได้มีมติครม.ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ดังนี้
– อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งในเมืองย่างกุ้ง เขต North Okkalapa และเขต North Dagon ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ทั้งจำนวน วงเงินกู้ จำนวน 1,458.248 ล้านบาท

– อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 729.124 ล้านบาท ดังนี้

ภาพจากอีจัน

และส่วนที่ 2 สพพ. จะกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ วงเงิน 729.124 ล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ 5 ปี ด้วยวิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนด
โดยอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี

– กรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. ตามจำนวนที่ชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเพื่อชำระคืนแหล่งเงินกู้ไปก่อน และเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาตามนัยมติคณะรัฐมนตรี และกำหนดแนวทาง วิธีการบริหารจัดการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะถดถอยและมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สงครามการค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้งดังกล่าวส่งผลดีต่อทั้งเมียนมาและไทย สำหรับเมียนมา โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายไฟฟ้า สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมียนมา อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ
สำหรับไทย การให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการผลิต การค้า และบริการของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศไทย อีกทั้งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวไทยให้เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น เนื่องจาก สพพ. ได้กำหนดเงื่อนไขให้เมียนมาใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมทั้งกำหนดให้ใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรควบคุมงานเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการ และกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญากู้เงินเป็นกฎหมายไทย อีกทั้งสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาผ่าน สพพ. มาแล้ว 1 ครั้ง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (24 ธันวาคม 2562) อนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (เงินกู้) แก่เมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาในลักษณะเงินให้เปล่าด้วย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มิถุนายน 2558) อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่เมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (กรมทางหลวง)