เปิดรายชื่อจังหวัด “ล็อกดาวน์ ปิดทางเข้า-ออก” สกัดโควิด-19

เช็กเลย! จังหวัดไหน ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ปิดทางเข้า-ออก สกัดโควิด-19

จากวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้ (30 มีนาคม 63) อยู่ที่ 1,524 คน เสียชีวิต 9 ราย รักษาตัวอยู่ รพ. 1,388 คน และรักษาหายแล้ว 127 คน

เมื่ออยู่ในสภาวการณ์ของโรคระบาด ทำให้หลายจังหวัดมีมาตรการการปิดพื้นที่เสี่ยงเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางจังหวัดก็เลือกที่จะ "ล็อกดาวน์" ปิดเมือง ปิดทางเข้า-ออก เพื่อป้องกันและสกัดโรค-19

มาดูกันว่ามีจังหวัดไหนบ้าง ที่เลือก "ล็อกดาวน์" ปิดทางเข้า-ออก ของจังหวัด

จ.ปัตตานี

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ประกาศให้จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด – 19 ทั้งจังหวัด โดยให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

1. ห้ามประชาชนเดินทาง เข้า – ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี อันเนื่องมาจาก เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด – 19 เว้นแต่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค การป้องกันโรค การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค – บริโภค อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล และยานพาหนะ ของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผู้ได้รับการยกเว้นต้องปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

2. ห้ามผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด เดินทาง เข้า – ออก จากหมู่บ้านหรือที่เอกเทศ สำหรับที่แยกกัน หรือกักกัน และหรือข้ามเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี เว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิด ความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ จะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและหรือเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

จ.ตาก

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประกาศการระงับการเดินทางเข้า-ออก ของบุคคล ณ จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดตาก เพื่อควบคุมโควิด-19 ซึ่งประชาชนทั้งชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ที่มีความต้องการจะเดินทางจากไทยข้ามไปฝั่งเมียนมา ไม่สามารถจะเดินทางไปเมียนมาได้ในทุกช่องทาง เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย จำเป็นที่เราต้องป้องกันการแพร่ระบาดทุกแนวทาง เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปในวงกว้าง ทำให้จังหวัดตากต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดการเข้า-ออก จุดผ่านแดน เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35(1) แห่ง พรบ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก จึงปิดและระงับจุดผ่านแดนทุกแห่งทุกจุด ยกเว้น การนำเข้า-ส่งออก สินค้า และสินค้าผ่านแดน โดยอนุญาตให้มีพนักงานขับรถ 1 คน และคนประจำรถสินค้า 1 คน สัญชาติไทยหรือเมียนมา รวมคันละไม่เกิน 2 คน และต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อโควิด-19 จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่จุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 สำหรับการปิดพรมแดนนั้นจะปิดห้ามบุคคลเข้า-ออก ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป เป็นการปิดแบบเด็ดขาด จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

จ.ยะลา

เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีมาตรการการป้องกันโรคที่เข้มข้นขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 จังหวัดยะลา จึงมีคำสั่ง

1. ห้ามประชาชนเดินทาง เข้า – ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดยะลา อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด – 19 เว้นแต่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค การป้องกันโรค การฆ่าเชื้อโรค การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค บริโภค การไปรษณีย์อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาลและยานพาหนะของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการยกเว้นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

จ.นราธิวาส

สำหรับจังหวัดนราธิวาสนั้น นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ลงนามคำสั่งจังหวัดนราธิวาสระงับการเดินทาง เข้า-ออก จังหวัดนราธิวาส ของบุคคล

1. ห้ามประชาชนเดินทาง เข้า -ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค การป้องกันโรค การฆ่าเชื้อโรค การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค – บริโภค การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล และยานพาหนะของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการยกเว้นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

2. ห้ามผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดเดินทางเข้า -ออก หมู่บ้านหรือเอกเทศ สำหรับที่แยกกัน หรือกักกัน และหรือข้ามเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้งตามมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ จะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหรือเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ภาพจากอีจัน
จ.ภูเก็ต

ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้าออกจังหวัดเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ออกประกาศจังหวัดภูเก็ต แจ้งปิดช่องทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต บริเวณด่านตรวจท่าฉัตรไชย และช่องทางเข้า-ออกทางน้ำ ทั้งระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ มีผลตั้งแต่ 00.01 น. ของวันที่ 30 มี.ค. – 30 เม.ย. 63

ส่วนการปิดสนามบินนั้น กพท. จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปิดสนามบินได้ ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เป็นต้นไป ทั้งนี้ระหว่าง วันที่ 30 มี.ค. -9 เม.ย. สนามบินภูเก็ตยังคงให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ทำหนังสือถึง กพท. เพื่อขอให้ปิดสนามบินภูเก็ต ระหว่างวันที่ 10-30 เมษายน 2563 แล้ว

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน